คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามสำเนาใบกำกับภาษีและบิลเงินสดพิพาท จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์นั้นเมื่อโจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากร ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ ต.5/1048/2/100184 และต.5/1048/2/100185 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 228/2540/สภ.1 (กม.4) และ 229/2540/สภ.1 (กม.4)ลงวันที่ 9 กันยายน 2540
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่นำสืบรับกันและข้อที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และปี 2536 อ้างว่าโจทก์นำรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18)มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีจำนวน 8,307,975.10 บาทและจำนวน 2,101,121.99 บาท ตามลำดับ ตามสำเนาหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 141 และ 142โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ ตามสำเนาคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย ล.3แผ่นที่ 15 และ 16
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีนายขจัด เอกโรจนกุล กรรมการของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่าโจทก์ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโครงการอาคารสำนักงานเขตบึงกุ่มและโครงการก่อสร้างซุ้ม 5 ธันวาคม 2535 ตามสำเนาสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 208 ถึง 236 ในการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวโจทก์ยื่นซองประกวดราคาโดยต้องจัดทำประมาณการค่าก่อสร้างโดยมีนายจเร เถาลิโป้ เป็นผู้ออกแบบและประมาณการค่าใช้จ่าย โจทก์ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งสองสัญญา ปรากฏว่าอาคารสำนักงานเขตบึงกุ่มได้ประมาณการใช้เหล็กเป็นเงิน14 ล้านบาทเศษ เมื่อเสร็จการก่อสร้างโจทก์ได้จ่ายค่าเหล็กเป็นเงิน 16 ล้านบาทเศษ ส่วนการก่อสร้างซุ้ม 5 ธันวาคม 2535ได้ประมาณการเป็นค่าเหล็ก 8 แสนบาทเศษ แต่เมื่อการก่อสร้างเสร็จใช้เงินประมาณ 9 แสนบาทเศษ ในการซื้อวัสดุก่อสร้างที่เป็นเหล็กทั้งสองโครงการมีนายอุดม ยศวิไล มาเสนอขายโดยผู้ควบคุมงานมีอำนาจสั่งซื้อ และพยานทราบว่าได้มีการซื้อเหล็กมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยสมบูรณ์สตีล และห้างหุ้นส่วนจำกัดพ. เซ็นเตอร์โลหะ พยานโจทก์ส่งคนไปดูที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งสองปรากฏว่าเป็นผู้ขายเหล็กจริง จึงอนุมัติให้ซื้อ จำเลยที่ 1ไม่ให้ถือใบกำกับภาษีและบิลเงินสด ซึ่งเป็นค่าเหล็กที่ซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งสองเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรอบระยะบัญชีปี 2535 และ 2535 นายอุดม เบิกความว่า พยานเป็นผู้เสนอขายเหล็กของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยสมบูรณ์สตีล ให้แก่โจทก์โดยเสนอขายกับนางแมว เสมียนพนักงาน ส่วนจำเลยทั้งสี่มีนายวรวิทย์ กาฬภักดี นางสาวน้อมจิตร เนื่องจำนงค์และนางบุญญลักษณ์ เลขะวนิช เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1เบิกความว่า จากการตรวจสอบโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินค่าเหล็ก ใบกำกับภาษีที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ที่ออกใบกำกับภาษีและบิลเงินสดตามสำเนาเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 149 ถึง 155 และ 180 ถึง 207 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยสมบูรณ์สตีล และห้างหุ้นส่วนจำกัดพี.เซ็นเตอร์โลหะ มาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวโดยนายขจัด รับว่าไม่สามารถนำผู้ออกเอกสารดังกล่าวมาเบิกความได้ นายขจัดเบิกความแต่เพียงว่าในการซื้อวัสดุก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานมีอำนาจสั่งซื้อที่หน้างาน ที่หน้างานแจ้งว่าได้ซื้อเหล็กมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เซ็นเตอร์โลหะนายขจัดไม่ได้เบิกความให้ได้ความชัดว่าหน้างานดังกล่าวเป็นใคร ทั้งโจทก์ไม่ได้นำบุคคลดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนว่าโจทก์ได้ซื้อเหล็กมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดทั้งสองจริง ส่วนนายอุดมเบิกความว่าได้เสนอขายเหล็กให้แก่นางแมวซึ่งเป็นเสมียนหน้างาน แต่นายขจัดไม่ได้เบิกความถึงนางแมวทั้งโจทก์ก็ไม่ได้นำนางแมวดังกล่าวมาเบิกความสนับสนุนเช่นกันจึงไม่อาจรับฟังได้ว่านางแมวจะมีตัวตนจริง นอกจากนี้นายอุดมเบิกความแต่เพียงว่า เหล็กที่นำมาเสนอขายดังกล่าวนั้นเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยสมบูรณ์สตีลเท่านั้น นายอุดมไม่ได้เบิกความถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดพี.เซ็นเตอร์โลหะ โจทก์ไม่มีพยานสนับสนุนว่าใครเป็นผู้เสนอขายเหล็กของห้างหุ้นส่วนจำกัดพี.เซ็นเตอร์โลหะ ให้โจทก์ และยิ่งไปกว่านั้นนายอุดมเบิกความว่าตนเป็นเพียงผู้เสนอขายเหล็กเท่านั้น นายอุดมไม่ได้เกี่ยวกับการส่งมอบเหล็กและรับเงินค่าเหล็กจากโจทก์ประกอบกับโจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงิน คงมีแต่นายขจัดเบิกความว่าโจทก์ได้ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะจ่ายค่าเหล็กเป็นเงินสดประมาณ 17 ล้านบาท เพียงต้องการส่วนลดเท่านั้น ดังนี้โจทก์จึงพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามสำเนาใบกำกับภาษีและบิลเงินสดเอกสารหมาย ล.3 แผ่นที่ 149 ถึง 155 และ 180 ถึง 207ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของนางอุษณีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่เคยให้การไว้กับเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ได้มีการจ่ายเงินไปจริง ตามคำให้การเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 37 และ 38 ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้ซื้อและใช้เหล็กในการก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตบึงกุ่มและโครงการก่อสร้างซุ้ม 5 ธันวาคม 2535 ไปจริงจึงต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเหล็ก มิฉะนั้นโจทก์จะไม่สามารถก่อสร้างและส่งมอบงานที่ก่อสร้างได้ และแม้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดไทยสมบูรณ์สตีล และห้างหุ้นส่วนจำกัดพี.เซ็นเตอร์โลหะจะไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีสิทธินำค่าซื้อเหล็กดังกล่าวมาลงเป็นค่าใช้จ่ายนั้น เห็นว่าเมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินค่าเหล็กตามใบกำกับภาษีและบิลเงินสดดังกล่าว รายจ่ายจำนวนดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวหามีผลลบล้างบทบัญญัติมาตราดังกล่าวได้ไม่
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share