คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5202/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การรับฝากเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลย และการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป เพราะเป็นธุรกิจของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ เป็นลายมือชื่อปลอม มิใช่ลายมือชื่อนาย อ. และนาย ส. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ ให้แก่ผู้ที่นำมาเรียกเก็บเงินทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อของกรรมการทั้งสองดังกล่าวที่ให้ไว้แก่ธนาคาร และมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์โดยกรรมการทั้งสองนี้เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่ธนาคารจำเลยไปเช่นนี้ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
การที่นาย จ. ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เองเป็นผู้ลักเอาแบบพิมพ์เช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ ที่อยู่ในการครอบครองของโจทก์ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อนาย อ. และนาย ส. กรรมการโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ทั้ง 15 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานานถึง 9 เดือนเศษ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาและควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาท รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีผู้นำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อแต่อย่างใด อันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง 438 และ 442 ซึ่งเมื่อได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 2,500,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเงินจำนวนนี้ไปลงรายการหักบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ การพิพากษาให้เพิกถอนรายการหักบัญชีดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิจารณาเกินคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 9,275,514.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 5,604,772 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้ส่งรายงานการฝากและถอนเงินจากบัญชีของโจทก์ให้แก่โจทก์ทุกสิ้นเดือนและทุก 6 เดือน แต่โจทก์มิได้สนใจตรวจดูเงินในบัญชี โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นอ้าง ทั้งกรณีความเสียหายเกิดขึ้นจากความผิดของโจทก์เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายหากเรียกได้ก็ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาบริษัทธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนกิจการยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนรายการที่ลงหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันตามจำนวนเงินในเช็คจำนวน 15 ฉบับ รวมจำนวนเงิน 5,604,772 บาท แก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2538 นายจีรวัฒน์ได้ลักแบบพิมพ์เช็คในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ธนาคารจำเลยจ่ายให้ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อนายอาทิตย์ เมฆดำรงแสง กับนายสอาด เมฆดำรงแสง ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายพร้อมประทับตราของโจทก์ แล้วนำเข้าบัญชีของนายจีรวัฒน์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาตลิ่งชัน เพื่อเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์จำนวน 15 ฉบับ รวมเป็นเงิน 5,604,772 บาท ซึ่งจำเลยก็ได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาททุกฉบับดังกล่าว…
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเงินจำนวนที่จ่ายไปตามเช็คพิพาท 15 ฉบับ ดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การรับฝากเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลย และการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยซึ่งจะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไปเพราะเป็นธุรกิจของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ เป็นลายมือชื่อปลอม มิใช่ลายมือชื่อนายอาทิตย์ และนายสอาด กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ ให้แก่ผู้ที่นำมาเรียกเก็บเงินทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อของกรรมการทั้งสองดังกล่าวที่ให้ไว้แก่ธนาคาร และมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์โดยกรรมการทั้งสองนี้เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่ธนาคารจำเลยไปเช่นนี้ จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความด้วยว่านายจีรวัฒน์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์เองเป็นผู้ลักเอาแบบพิมพ์เช็คพิพาททั้ง 15 ฉบับ ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อนายอาทิตย์และนายสอาดกรรมการโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็ค แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ทั้ง 15 ฉบับ ในช่วงระยะเวลานานถึง 9 เดือนเศษ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 22 สิงหาคม 2538 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาและควบคุมดูแลแบบพิมพ์เช็คพิพาท รวมทั้งไม่มีมาตรการในการตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้มีผู้นำแบบพิมพ์เช็คพิพาทไปปลอมลายมือชื่อแต่อย่างใด อันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใดต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง 438 และ 442 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,500,000 บาท ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ส่วนข้อฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ หาได้ฟ้องขอให้เพิกถอนรายการที่ลงหักบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเพิกถอนรายการที่ลงหักบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะมีการนำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ที่ธนาคารจำเลย เงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์มีไม่พอจ่ายตามเช็ค แต่จำเลยได้อนุมัติให้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทไปก่อน ดังนี้ เงินที่จำเลยจ่ายไปตามเช็คพิพาทจึงเป็นเงินของจำเลยเอง มิใช่เงินของโจทก์ โจทก์หาอาจขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ไม่ แต่การที่จำเลยนำจำนวนเงินตามเช็คพิพาทไปลงรายการหักบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์เท่ากับเป็นการให้โจทก์ชดใช้เงินตามเช็คพิพาทที่เบิกเกินบัญชีไปคืนให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อได้กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 2,500,000 บาท ดังวินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยย่อมไม่มีสิทธินำเงินจำนวนนี้ไปลงรายการหักบัญชีในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ การพิพากษาให้เพิกถอนรายการหักบัญชีดังกล่าวจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเพิกถอนรายที่ลงหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันในส่วนที่เกี่ยวกับเช็คพิพาทเป็นจำนวนเงิน 2,500,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share