คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลว่าทำละเมิดต่อโจทก์ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
คนงานบริษัทจำเลยทำท่อน้ำประปาของโจทก์แตกในระหว่างบริษัทจำเลยรับเหมาก่อสร้างถนน โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดทำท่อประปาของโจทก์แตกเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมท่อประปาที่แตกเสียหายแล้วตามคำร้องของเจ้าหน้าที่จำเลย โจทก์นำสืบว่าคนงานของจำเลยทำละเมิดได้ไม่เป็นการนำสืบนอกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล ได้รับเหมาก่อสร้างถนนเชื่อมทางระหว่างสะพานปิ่นเกล้ากับถนนจรัญสนิทวงศ์ จำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยได้ทำท่อน้ำประปาของโจทก์เสียหายเนื่องจากใช้รถยนต์และเครื่องจักรในการก่อสร้างทับและขุดดินถูกท่อน้ำประปา โจทก์ได้ทำการซ่อมท่อน้ำประปาที่แตกเสียหายแล้วตามคำร้องของเจ้าหน้าที่จำเลยรวมค่าซ่อมและค่าสูญเสียน้ำประปาเป็นเงินทั้งสิ้น 4,475 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ จึงฟ้องให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ การซ่อมท่อน้ำประปาตามคำร้องของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามปกติ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกจากจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่บรรยายให้ชัดว่าใครทำให้ทรัพย์สินโจทก์เสียหาย จำเลยเป็นนิติบุคคลไม่อาจทำละเมิดตามฟ้องได้

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม แม้จำเลยเป็นนิติบุคคลก็ทำละเมิดได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามฟ้องและการนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิด ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดในการที่บุคคลอื่นทำละเมิดซึ่งจำเลยต้องร่วมรับผิดตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 และที่โจทก์นำสืบเป็นทำนองว่าพนักงานหรือคนงานของจำเลยทำละเมิดนั้น เป็นการสืบนอกฟ้องรับฟังไม่ได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 บัญญัติว่า “นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมาย ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของตนดั่งมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง” มาตรา 70 บัญญัติว่า “ภายในบังคับแห่งบทมาตราก่อนนี้ นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่ซึ่งว่าโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น” และมาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เข้าเสียหายถึงแก่ชีวิต ฯ ทรัพย์สินหรือสิทธิฯ ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวถือได้ว่า นิติบุคคลย่อมทำละเมิดต่อบุคคลอื่นภายในวัตถุที่ประสงค์ของตนได้ ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีวัตถุที่ประสงค์รับเหมาทำการก่อสร้างดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งว่าทำละเมิดต่อโจทก์ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ได้โดยโจทก์ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องว่าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลทำละเมิดต่อโจทก์อีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์ไม่กล่าวฟ้องว่าผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติของมาตรา 76 เป็นเรื่องที่ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลทำการตามหน้าที่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลจำต้องรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น หากผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลทำการซึ่งมิได้อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลแล้ว นิติบุคคลไม่จำต้องรับผิดเสียค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลทำละเมิดต่อบุคคลอื่นตามบทบัญญัติของมาตรา 69 และมาตรา 70 ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลว่าทำละเมิดต่อโจทก์ให้รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

ส่วนปัญหาที่ว่าโจทก์นำสืบนอกฟ้องหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องข้อ 2 โจทก์ได้กล่าวไว้แจ้งชัดว่า ในการก่อสร้างถนนนี้จำเลยได้ทำท่อประปาของโจทก์แตกเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมท่อประปาที่แตกเสียหายแล้วตามคำร้องของเจ้าหน้าที่จำเลย การที่โจทก์นำสืบว่าพนักงานหรือคนงานของจำเลยทำละเมิด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบนอกฟ้องตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share