คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2803/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่เกิดจากการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน
ป.วิ.อ. มาตรา 16 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ว่าต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจนั้นๆ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 มาตรา 4 กำหนดให้มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นส่วนราชการหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาตรา 5 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร กับมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ข้อ 1 กำหนดให้มีกองบังคับการสอบสวนเป็นส่วนราชการหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และข้อ 2 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร แสดงว่ากองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจสอบสวนความผิดข้างต้นทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้โดยชอบ ไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 18 การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83 เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามกฎหมาย และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1404/2548 และ 1690/2548 ของศาลจังหวัดลพบุรี เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ด้วย ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 เนื่องจากศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิตแล้วจึงเพิ่มโทษอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 666,666 บาท บวกโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1404/2548 และ 1690/2548 ของศาลจังหวัดลพบุรี เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ รวมจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 34 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666 บาท ริบของกลาง หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ 1 คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่ดาบตำรวจอนันต์และสายลับผู้ล่อซื้อ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 คอยรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์เกิดขึ้นจากการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้รับฟังนั้น เห็นว่า การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามตามอำนาจในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (10) ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยทั้งสามพร้อมด้วยพยานหลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่เกิดจากการใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดที่อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามจับกุมจำเลยทั้งสามแล้ว ต้องส่งตัวจำเลยทั้งสามให้พนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ปฏิบัติ การสอบสวนคดีนี้จึงมิชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานตำรวจในการที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้ว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจนั้นๆ สำหรับคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามจับจำเลยทั้งสามแล้ว ส่งตัวจำเลยทั้งสามให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำการสอบสวน และในขณะสอบสวนมีพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 10 กำหนดให้การแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกองบัญชาการ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และการแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการให้ออกเป็นกฎกระทรวง และให้กำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงนั้น แล้วแต่กรณี ซึ่งมีการตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 มาตรา 4 กำหนดให้มีกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดเป็นส่วนราชการหนึ่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมาตรา 5 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร กับมีการออกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2548 ข้อ 1 กำหนดให้มีกองบังคับการสอบสวนเป็นส่วนราชการหนึ่งในกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และข้อ 2 กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดทางอาญาทั่วราชอาณาจักร แสดงว่ากองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจสอบสวนความผิดข้างต้นทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น พนักงานสอบสวน กองบังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้โดยชอบ ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share