คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4679/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยเพียงว่า “รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว” แต่เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยอีก กลับส่งสำนวนมาศาลฎีกาโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในคดีนี้ แม้ศาลฎีกายกฟ้องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำในศาล ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยปลอมหรือใช้คำสั่งศาลปลอมหรือไม่ จำเลยจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีความผิดในคดีนี้หาได้ไม่
จำเลยปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ตั้ง ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมดังกล่าวไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นซึ่งศาลชั้นต้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน เมื่อขณะนั้นยังไม่แน่ว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาลดังกล่าว และการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และเหตุที่จำเลยปลอมคำสั่งศาลชั้นต้นและ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) ด้วยแล้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นจึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้เสียหายที่สามารถร้องทุกข์หรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 264, 265, 268 นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่พิเศษ 1/2543, ที่พิเศษ 2/2544, ที่พิเศษ 3/2544 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1935/2545 และ 1936/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมจึงให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1810/2546 ของศาลชั้นต้น สำหรับคดีหมายเลขแดงที่พิเศษ 1/2543 ที่พิเศษ 2/2544 และที่พิเศษ 3/2544 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดจึงไม่มีโทษให้นับต่อ ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1935/2545 ของศาลชั้นต้น ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ให้ยกคำขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยยื่นฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงโดยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่งเมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว ปรากฏว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีคนใดอนุญาตให้ฎีกา ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนมาศาลฎีกาเลยโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ และไม่ได้สั่งฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงแต่อย่างใด เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา หากจะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงแล้วก็จะทำให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวน เห็นว่า จำเลยฎีกาข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงสั่งไม่รับฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ดังนั้น การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี 2542 นางนุถึงแก่ความตาย นายทองจันทร์ ซึ่งเป็นบุตรนางนุได้ว่าจ้างจำเลยซึ่งเป็นทนายความเพื่อขอให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อแต่งตั้งนายทองจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกตกลงค่าจ้าง 5,000 บาท นายทองจันทร์มิได้เบิกความต่อศาล ครั้นปลายปี 2542 จำเลยนำสำเนาคำสั่งศาลที่ระบุว่าเป็นคำสั่งศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 671/2542 หมายเลขแดงที่ 806/2542 ลงวันที่ 30 เมษายน 2542 ตั้งนายทองจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกนางนุ ระบุชื่อนายเสกสิทธิ์ และนายวันชัย เป็นองค์คณะที่มีคำสั่งกับมีนายปรีดา รองจ่าศาลแทนจ่าศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้อง ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายคำสั่งศาล (สำนวนคดีหมายเลขแดงที่พิเศษ 3/2544 ของศาลชั้นต้น) มามอบให้แก่นายทองจันทร์ หลังจากนั้นนายทองจันทร์นำสำเนาคำสั่งศาลไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอภูเวียงเพื่อรับโอนมรดกที่ดินของนางนุ เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าสำเนาคำสั่งมีพิรุธจึงสอบถามมายังศาลชั้นต้น นางสาวทิพาพร หัวหน้างานสารบบศาลจังหวัดขอนแก่นตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าสำเนาคำสั่งศาลดังกล่าวปลอมเพราะคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 671/2542 หมายเลขแดงที่ 806/2522 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีมีข้อพิพาทระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์ โจทก์ นางมะลิอร จำเลย เรื่องกู้ยืม ศาลชั้นต้นจึงทำการไต่สวนเรื่องละเมิดอำนาจศาลแก่นายทองจันทร์และจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่านายทองจันทร์มิได้ละเมิดอำนาจศาล แต่จำเลยละเมิดอำนาจศาลให้จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษาแก้ว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ปรากฏตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่พิเศษ 3/2544 ของศาลชั้นต้น นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นได้มอบอำนาจให้นายเสกสรร ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโทบัญชรว่ามีการปลอมและใช้เอกสารคำสั่งผู้จัดการมรดกปลอมคดีนี้และคดีอื่นอีก 2 ราย สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารคำสั่งศาลปลอม
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม เพราะศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องส่วนหนึ่งต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารคำสั่งศาลปลอม ทั้งคดีละเมิดอำนาจศาลที่จำเลยถูกกล่าวหา ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่าจำเลยไม่ได้กระทำในศาล จึงไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเท่านั้น หาได้วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือใช้เอกสารคำสั่งศาลปลอมหรือไม่แต่ประการใด จำเลยจะอ้างมาเป็นเหตุว่าไม่มีความผิดตามฟ้องคดีนี้หาได้ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า พนักงานสอบสวนอำเภอเมืองขอนแก่นไม่มีอำนาจสอบสวนคดีนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายทองจันทร์ได้ไปเบิกความต่อศาลชั้นต้น โดยนำสำเนาคำสั่งศาลปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาลว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในการปลอมอันจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารคำสั่งศาลปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นแล้ว ประกอบกับขณะนั้นยังไม่ทราบว่า มีการปลอมคำสั่งศาลในท้องที่ใด และบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาล แม้จำเลยจะมอบคำสั่งศาลปลอมให้แก่นายทองจันทร์ในเขตท้องที่อำเภอภูเวียงก็ตาม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการไม่แน่ว่าความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 (1) นอกจากนี้หากการปลอมคำสั่งศาลไม่ได้ทำในท้องที่สถานีตำบลภูธรอำเภอเมืองขอนแก่น ก็เป็นกรณีที่การปลอมคำสั่งศาลกับการที่นายทองจันทร์ใช้เอกสารคำสั่งศาลปลอมแสดงต่อศาลนั้นเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กันตามมาตรา 19 (4) ดังนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองขอนแก่นย่อมมีอำนาจสอบสวนและเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะศาลชั้นต้นมิได้เป็นนิติบุคคลอันจะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้อันทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเป็นการไม่ชอบหรือไม่ คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคหนึ่ง มิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบก่อนตามมาตรา 121 วรรคสอง ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองจึงเป็นการชอบ โดยไม่จำต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบแต่ประการใด ฉะนั้นปัญหาที่ว่าศาลชั้นต้นเป็นนิติบุคคลหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน

Share