คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ในการนี้หากเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ผู้นั้นส่งออกไปซึ่งวัตถุอันตรายนั้น เพื่อคืนให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งวัตถุอันตรายนั้นมาให้ หรือเพื่อการอื่นตามความเหมาะสมก็ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด…” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการอย่างอื่นตามความเหมาะสมได้ แต่ก็ต้องเป็นการกระทำเพียงเพื่อประโยชน์ในการเข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย การตรวจ ค้น กัก ยึดหรือตรวจสอบวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 54 (1) (2) (3) มิได้ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ได้ แม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะได้กระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเจ้าของทรัพย์สิน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด กรณีจึงไม่อาจนำคำว่า “ระงับ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีความหมายว่า “ยับยั้งไว้, ทำให้สงบ” มาขยายความให้หมายความรวมถึงการใส่กุญแจปิดโรงงานดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์จึงเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งห้ามหรือหมายอายัดการประกอบกิจการโรงงานของจำเลยทั้งสอง และเพิกถอนคำสั่งอายัดผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 270,107,306 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ เฉพาะรายการที่ 22, 25, 26, 33, 36, 39, 42, 58, 61 และ 62 และให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยค่าขึ้นศาลให้คิดตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาโดย
ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรก คำสั่งอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ นอกจากที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอายัดแล้วเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หรือไม่ และโจทก์ได้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองและผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ถูกอายัดไว้ นอกจากที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอายัดแล้วไม่ใช่วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ทั้งหมด และโจทก์ได้รับอนุญาตให้ผลิตและครอบครองวัตถุอันตรายจากจำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประเด็นข้อนี้ในคราวเดียวกัน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 18 ได้แบ่งวัตถุอันตรายออกเป็น 4 ชนิด ส่วนการระบุชื่อหรือคุณสมบัติของวัตถุอันตราย ชนิดของวัตถุอันตราย กำหนดเวลาการใช้บังคับและหน่วยงานผู้รับผิดชอบให้เป็นไปตามประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัตถุอันตราย สำหรับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ได้ความจากนายวินัย นักวิทยาศาสตร์ 7 กองวัตถุมีพิษการเกษตร สังกัดกรมวิชาการเกษตร พยานจำเลยทั้งสองเบิกความว่า หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้ส่งวัตถุอันตรายที่ตรวจยึดได้จากโจทก์ไปให้กองวัตถุมีพิษการเกษตรที่พยานปฏิบัติหน้าที่อยู่เพื่อทำการตรวจสอบว่า วัตถุอันตรายของโจทก์ได้มาตรฐานการผลิตหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่าวัตถุอันตรายของโจทก์ส่วนมากเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เมื่อเปรียบเทียบรายชื่อและชนิดวัตถุอันตรายตามที่ปรากฏจากรายงานผลการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวกับบัญชีรายชื่อและชนิดของวัตถุอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่ามีชื่อและชนิดของวัตถุอันตรายตรงกัน แม้รายงานผลการตรวจพิสูจน์จะเป็นเพียงการสุ่มตรวจตัวอย่างวัตถุอันตรายที่อายัดได้จากโจทก์ก็ตาม กรณีย่อมแสดงให้เห็นว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีเหตุอันควรสงสัยว่า โรงงานของโจทก์น่าจะได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จึงมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 54 บัญญัติว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) เข้าไปในสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย สถานที่ผลิตวัตถุอันตราย สถานที่เก็บรักษาวัตถุอันตราย หรือสถานที่ที่สงสัยว่าเป็นสถานที่เช่นว่านั้นในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่ดังกล่าว หรือเข้าไปในพาหนะที่บรรทุกวัตถุอันตรายหรือสงสัยว่าบรรทุกวัตถุอันตราย เพื่อตรวจสอบวัตถุอันตราย ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย สมุดบัญชีเอกสาร หรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวกับวัตถุอันตราย
(2) นำวัตถุอันตรายหรือวัตถุที่สงสัยว่าเป็นวัตถุอันตรายในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่างเพื่อตรวจสอบ
(3) ตรวจค้น กัก ยึด หรืออายัดวัตถุอันตราย ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย สมุดบัญชี เอกสารหรือสิ่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้
(4) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใด ๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาได้”
จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีอำนาจเข้าไปในโรงงานของโจทก์และอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้น เพราะกฎหมายได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้เป็นกรณีพิเศษแล้ว และตามมาตรา 55 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสิ่งของที่ยึดหรืออายัดไว้มิใช่เป็นทรัพย์ที่ต้องริบตามมาตรา 88 หรือพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการอายัดหรือคืนวัตถุอันตราย ภาชนะบรรจุวัตถุอันตราย สมุดบัญชี เอกสารและสิ่งนั้นๆ ให้แก่ผู้ควรได้รับคืนโดยมิชักช้า…” พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจึงมีอำนาจอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไว้ตรวจสอบจนกว่าจะพิจารณาแล้วเห็นว่าสิ่งของที่อายัดไว้มิใช่เป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามมาตรา 88 หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์โดยอ้างว่าไม่ใช่วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 อันจะต้องถูกริบทั้งหมด โจทก์ก็ต้องมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้เช่นนั้น แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่ถูกอายัดมิใช่วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามที่ถูกกล่าวหา พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตามมาตรา 54 (3) ไว้ตรวจสอบได้จนกว่าจะพิจารณาแล้วเห็นว่าสิ่งของที่อายัดไว้มิใช่เป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามมาตรา 88 หรือพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี ที่โจทก์ฎีกาว่า ผลิตภัณฑ์ของโจทก์มิใช่วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจอายัด จึงฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปมีว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองและผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายจากจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าใบอนุญาตนั้น เป็นใบอนุญาตที่ได้รับตามพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 และได้หมดอายุไปตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุคดีนี้แล้ว ประกอบกับพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 3 ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 และกำหนดชนิดวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ขึ้นใหม่ ซึ่งตามมาตรา 24 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศระบุชื่อวัตถุใดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าวยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 23 ภายในเวลาที่กำหนดในประกาศดังกล่าว และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ผู้นั้นประกอบกิจการไปพลางก่อนได้จนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตตามคำขอนั้น” ต่อมามีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 ข้อ 4 กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ในครอบครองที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แจ้งการดำเนินการของตนสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือยื่นคำขออนุญาตสำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบภายในกำหนดสามสิบวันนับจากวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับคือ วันที่ 2 พฤษภาคม 2538 ผู้ผลิตจะต้องยื่นคำขออนุญาตผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2538 หากได้ยื่นคำขออนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ผลิตรายนั้นแม้จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ก็สามารถที่จะประกอบกิจการผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไปพลางก่อนจนกว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แต่ตามสำเนาคำขออนุญาตผลิตวัตถุอันตรายของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งมายื่นคำขออนุญาตผลิตวัตถุอันตรายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 และวันที่ 22 กันยายน 2543 ตามลำดับ ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานได้อนุญาตตามคำขอของโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองและผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จากจำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ดังนั้น คำสั่งอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์ นอกจากที่ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอายัดแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองมีอำนาจใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ได้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจโรงงานก็เพื่อยับยั้งไม่ให้โจทก์นำวัตถุอันตรายมาผลิต หรือขนย้ายวัตถุอันตรายออกไปจำหน่าย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้ซื้อวัตถุอันตรายของโจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการปกป้องคุ้มครองประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการกระทำนั้นได้ โดยการปิดโรงงานที่ผลิตวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการชั่วคราว เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายผู้ใด ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ในการนี้หากเป็นกรณีมีเหตุอันสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ผู้นั้นส่งออกไปซึ่งวัตถุอันตรายนั้น เพื่อคืนให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งวัตถุอันตรายนั้นมาให้ หรือเพื่อการอื่นตามความเหมาะสมก็ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด…” เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการอย่างอื่นตามความเหมาะสมได้ แต่ก็ต้องเป็นการกระทำเพียงเพื่อประโยชน์ในการเข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย การตรวจ ค้น กัก ยึดหรือตรวจสอบวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 54 (1) (2) (3) มิได้ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ได้ แม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะได้กระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเจ้าของทรัพย์สิน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด กรณีจึงไม่อาจนำคำว่า “ระงับ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีความหมายว่า “ยับยั้งไว้ , ทำให้สงบ” มาขยายความให้หมายความรวมถึง การใส่กุญแจปิดโรงงานดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์จึงเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา ศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายว่า โจทก์สมควรได้รับค่าเสียหายหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบหรือถามค้านพยานโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงต้องรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์เสียหายโดยสูญเสียโอกาสทางการตลาดเป็นเงิน 200,000,000 บาท ค่าเสียหายที่ไม่สามารถนำสินค้าออกขายและส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้เป็นเงิน 14,798,706 บาท ค่าเสียหายในการซ่อมแซมเครื่องจักรจำนวน 39 เครื่อง เป็นเงิน 5,000,000 บาท ค่าจ้างพนักงานเป็นเงิน 148,000 บาท รวมเป็นเงิน 219,947,306 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท ต่ำเกินไป ส่วนจำเลยทั้งสองฎีกาว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่นายเนวิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเข้าตรวจสอบโรงงานของโจทก์ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 แล้วมีคำสั่งอายัดผลิตภัณฑ์ของโจทก์และใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์เป็นเวลา 55 วัน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนของจำเลยทั้งสอง การใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้แทนและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายให้แก่โจทก์จึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งในจำนวนค่าเสียหายดังที่โจทก์ฎีกา แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด” ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบโต้แย้งในประเด็นค่าเสียหาย ศาลก็มีอำนาจที่จะหยิบยกพฤติการณ์ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ คดีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองได้รับคำร้องเรียนจากเกษตรกรว่า โรงงานของโจทก์ผลิตวัตถุอันตรายไม่ได้มาตรฐาน จึงไปตรวจสอบโรงงานของโจทก์ ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด แม้เป็นการกระทำละเมิดแต่ก็ปรากฏว่า การตรวจสอบโรงงานของโจทก์ก็พบวัตถุอันตรายที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและมีไว้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย การละเมิดของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองส่วนหนึ่งก็มาจากการกระทำผิดกฎหมายของโจทก์ด้วย จึงชอบที่ศาลล่างทั้งสองสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดของจำเลยทั้งสองได้ และศาลฎีกาคณะคดีปกครองเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินสูงถึง 219,947,306 บาท ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท เป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share