คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7488/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และในฐานะผู้ร้องสอดสมรสกับ ม. เจ้ามรดก ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ต่อมาศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ที่ดินจำนวน 23 แปลง เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) ขณะจำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกเป็นกรรมการของบริษัท ม. และบริษัท ข. ได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของทั้งสองบริษัท หนี้หลักประกันนี้จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรสถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่บุคคลทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา 1490 (2) แต่เมื่อที่ดินที่จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกนำไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัท ข. มีการไถ่ถอนจำนองก่อนที่เจ้ามรดกจะเสียชีวิต หนี้ดังกล่าวจึงระงับ จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกไม่ต้องรับผิดต่อไป
ส่วนหนี้ของบริษัท ม. จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกนำไปจำนองและไถ่ถอนภายหลังเวลาที่เจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่อาจนำหนี้สินของบริษัทอื่นๆ ที่เจ้ามรดกถือหุ้น มาเฉลี่ยเพื่อให้เจ้ามรดกต้องร่วมรับผิดได้ เมื่อนำหนี้สินของบริษัท ม. ส่วนที่เจ้ามรดกต้องรับผิดชอบมาเฉลี่ยแล้วปรากฏว่า เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โดยเจ้ามรดกมีหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและหนี้จำนองและจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกชำระหนี้แทนกองมรดก จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้จัดการมรดกฟ้องไล่เบี้ยจากบริษัท ม. เพื่อรวบรวมทรัพย์สินเข้ากองมรดก เมื่อจำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ของเจ้ามรดก และได้นำหุ้นของเจ้ามรดกที่มีอยู่ทั้งห้าบริษัทมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ดินของเจ้ามรดกก็ได้ไถ่ถอนมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แทนกองมรดกของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระหนี้แทนเจ้ามรดกและชำระหนี้แทนเจ้ามรดก อันเป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ตาย ไม่ใช่กระทำในฐานะส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จำนองอีกรายหนึ่งที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่น ๆ ต่อไปได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 725 และไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัท ม. ในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 กองมรดกของผู้ตายจึงเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 และมีความผูกพันที่จะชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 โอนหุ้นของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในบริษัททั้งห้าและที่ดินทุกแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งปันแก่ทายาทอีก เมื่อนำหนี้สินของบริษัท ม. มาเฉลี่ยในส่วนหนี้เจ้ามรดกแล้ว เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะขอแบ่งทรัพย์มรดกอีก ส่วนบริษัท ม. มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กองมรดกเนื่องจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนเจ้ามรดกนั้น ถือเป็นคนละส่วนกับที่เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากทายาทเห็นว่าผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องทำให้ทายาทเสียหายก็เป็นเรื่องที่ทายาทจะไปฟ้องร้องผู้จัดการมรดกอีกต่างหาก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1720

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 นำเงินจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15497, 23991 และ 14137 จำนวน 27,050,000 บาท คืนกองมรดก ให้จำเลยทั้งสองนำมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,690,625 บาท ให้จำเลยทั้งสองแบ่งหุ้นในบริษัทตะกั่วป่าพาราวูดอุตสาหกรรม จำกัด แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 2,810.93 หุ้น แบ่งหุ้นในบริษัทเขาหลัก โฮมเพลส จำกัด แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 357.15 หุ้น แบ่งหุ้นในบริษัทสุดาหลา บีช รีสอร์ท จำกัด แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 11,401.56 หุ้น แบ่งหุ้นในบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 12,093.90 หุ้น แบ่งหุ้นในบริษัทเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท จำกัด แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1,802.34 หุ้น ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนแบ่งหรือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 14937 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 616.51 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 15271 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 10.97 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 10181 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 29.56 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 17941 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 163 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 15270 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 23.28 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 15113 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 38.29 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1533 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1.30 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1517 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1.79 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 863 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 0.78 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 864 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 0.77 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 230 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 176.97 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 231 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 139.78 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 142 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 522.09 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 701 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 338.5 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 284 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 544.78 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 278 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 115 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1783 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 481.07 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1270 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 544.62 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3289 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 12.5 ตารางวา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3283 แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 40.37 ตารางวา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานาย ว. ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความอ้างว่า ผู้ร้องสอดเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก โจทก์ทั้งสามไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์สินอะไรบ้างที่เป็นสินสมรส โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ทรัพย์พิพาทตามฟ้องเป็นของผู้ร้องสอดไม่ใช่ทรัพย์มรดก ผู้ร้องสอดในฐานะส่วนตัวชำระหนี้แทนเจ้ามรดกแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิไล่เบี้ยเอาจากทรัพย์มรดก ขณะเจ้ามรดกเสียชีวิตบุตรทั้งสามยังมีชีวิตอยู่มรดกจึงตกแก่บุตรทั้งสามและผู้ร้องสอด โจทก์ทั้งสามเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาไม่มีสิทธิรับมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1)
โจทก์ทั้งสามยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดขอให้ยกคำร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 และในฐานะผู้ร้องสอดสมรสกับนางมุกดา เจ้ามรดกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2516 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นายอิทธิพล เสียชีวิตไปก่อนแล้ว ส่วนนายวรากร นางสาววราภรณ์ และนางสาวศิรประภา เสียชีวิตพร้อมกับเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จากคลื่นสึนามิ เจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 8 คน วันที่ 9 มีนาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมามีคำพิพากษาให้ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เจ้ามรดกไม่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเขาหลัก โฮมเพลส จำกัด โจทก์ทั้งสามไม่ฎีกาจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ทรัพย์มรดกที่พิพาทกันในชั้นนี้คงมีหุ้นในบริษัทตะกั่วป่าพาราวูดอุตสาหกรรม จำกัด หุ้นบริษัทสุดาหลา บีช รีสอร์ท จำกัด หุ้นบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด หุ้นบริษัทเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท จำกัด ที่ดินโฉนดเลขที่ 14937, 15271, 10181, 17941, 15270, 15113, 1533, 1517, 863, 864, ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 230, 231, 142, 701, 284, 278, 1783, 1270, 3289, 3283 และเงินที่จำเลยที่ 1 ได้จากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15497, 23991 และ 14137 ที่ดินทั้ง 23 แปลงดังกล่าวเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 และเจ้ามรดก บางแปลงมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ บางแปลงมีชื่อเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ขณะจำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกเป็นกรรมการของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด และบริษัทเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท จำกัด ได้นำที่ดินมาจำนองเพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของทั้งสองบริษัท เมื่อที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกได้มาในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสอันถือเป็นสินสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) หนี้หลักประกันดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างสมรสถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่บุคคลทั้งสองต้องร่วมกันรับผิด ตามมาตรา 1490 (2) แต่เมื่อที่ดินที่จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกนำไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท จำกัด มีการไถ่ถอนจำนองเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2545 อันเป็นเวลาก่อนที่เจ้ามรดกจะเสียชีวิต หนี้ดังกล่าวจึงระงับไปแล้ว จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอีกต่อไป คงเหลือเพียงหนี้ของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด รายการเดียวเท่านั้น ที่พบว่าที่ดินที่จำเลยที่ 1 และเจ้ามรดกนำไปจำนองเป็นประกันมีการไถ่ถอนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 อันเป็นเวลาภายหลังจากเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้ว ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงไม่อาจนำหนี้สินของบริษัทสุดาหลา บีช รีสอร์ท จำกัด 54,072,250.70 บาท บริษัทเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท จำกัด 16,996,556.65 บาท บริษัทเขาหลัก โฮมเพลส จำกัด 419,645.38 บาท และบริษัทตะกั่วป่าพาราวูดอุตสาหกรรม จำกัด 6,402,641 บาท มาเฉลี่ยเพื่อให้เจ้ามรดกต้องร่วมรับผิดได้ ซึ่งตามรายการทรัพย์สิน – หนี้สินกองมรดก ระบุว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นที่ดินและหุ้นมีมูลค่ารวม 77,896,287.31 บาท เมื่อนำหนี้สินของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด 153,456,491.14 บาท ส่วนที่เจ้ามรดกต้องรับผิดชอบมาเฉลี่ยแล้ว เจ้ามรดกจึงมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินจำนวน 75,560,203.83 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดกหรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 75,560,203.83 บาท นั้น โจทก์ทั้งสามเห็นว่า หนี้ดังกล่าวเป็นของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด ไม่ใช่หนี้ของกองมรดกเพราะเจ้ามรดกเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัท เจ้ามรดกจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 และเจ้ามรดกได้ชำระค่าหุ้นเต็มจำนวนแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด ส่วนที่ดินของเจ้ามรดกที่จดจำนองไว้เป็นประกันหนี้ของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหมดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด แม้ผู้จัดการมรดกจะชำระหนี้แทนเจ้ามรดกในฐานะผู้ค้ำประกันไปก็ตาม เจ้ามรดกก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ได้ทั้งหมด เมื่อรวบรวมทรัพย์เข้ากองมรดกและแบ่งปันให้แก่ทายาท ดังนั้น เมื่อเจ้ามรดกมีหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันและหนี้จำนอง และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกชำระหนี้แทนกองมรดกไปแล้ว จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้จัดการมรดกฟ้องไล่เบี้ยจากบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด เพื่อรวบรวมทรัพย์สินเข้ากองมรดก ได้ความจากจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้ร้องสอดว่า จำเลยที่ 1 เจ้ามรดกและบุคคลอื่นร่วมกันทำธุรกิจโรงแรมสามแห่ง คือ โรงแรมสุดาหลา บีช รีสอร์ท โรงแรมมุกดารา บีช รีสอร์ท โรงแรมเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท และทำธุรกิจบ้านจัดสรร ชื่อบริษัทเขาหลัก โฮมเพลส จำกัด กิจการโรงเลื่อย ชื่อบริษัทตะกั่วป่าพาราวูดอุตสาหกรรม จำกัด วันที่ 26 ธันวาคม 2547 เกิดเหตุสึนามิ เป็นเหตุให้โรงแรมทั้งสามแห่งได้รับความเสียหายทั้งหมด เงินที่กู้จากสถาบันการเงินในปี 2547 ยังไม่มีการชำระหนี้ ธุรกิจโรงแรมทั้งสามแห่งจึงเป็นหนี้สถาบันการเงิน โดยโรงแรมมุกดารา บีช รีสอร์ท เพิ่งประกอบกิจการได้ 1 ปี กู้เงินมาใช้ลงทุน 300 กว่าล้านบาท โรงแรมสุดาหลา บีช รีสอร์ท เพิ่งจะซื้อกิจการมาจากผู้อื่นได้เพียง 1 เดือน ในวงเงิน 90 ล้านบาท โรงแรมเขาหลัก ปาล์ม บีช รีสอร์ท มีภาระหนี้อยู่ประมาณ 30 ถึง 40 ล้านบาท ในส่วนของโรงแรมมุกดา บีช รีสอร์ท ซึ่งมีเจ้ามรดกเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด ได้กู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 310,000,000 บาท ได้จำนองที่ดินของบริษัท และที่ดินของเจ้ามรดกและจำเลยที่ 1 เป็นหลักประกันหลังเกิดเหตุสึนามิแล้ว สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ให้จำเลยที่ 1 รับภาระหนี้ทั้งในนามของบริษัทและในนามส่วนตัวและของเจ้ามรดกด้วย เนื่องจากทรัพย์สินของทั้งสามบริษัทที่เป็นโรงแรมเสียหายอย่างหนัก สถาบันการเงินจึงให้จำเลยที่ 1 ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย และได้ขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ มาใช้หนี้สามบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 878 ล้านบาทเศษ ในส่วนของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด เป็นเงิน 600 ล้านบาท จำเลยที่ 1 มอบหมายให้ทนายความ สำนักงานบัญชีจัดทำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ของเจ้ามรดกแล้ว และได้นำหุ้นของเจ้ามรดกที่มีอยู่ทั้งห้าบริษัทมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ดินของเจ้ามรดกก็ได้ไถ่ถอนมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แทนกองมรดกของเจ้ามรดก เห็นว่า ในปีที่เจ้ามรดกเสียชีวิต บริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด ได้ยื่นงบการเงินต่อกระทรวงพาณิชย์ในปี 2547 ปรากฏว่า บริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด มีหนี้สิน 658,237,145.46 บาท ตามบัญชีทรัพย์ – หนี้สิน และแบบนำส่งงบการเงิน หนี้ดังกล่าวในส่วนที่กู้จากสถาบันการเงิน บริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1126 และ 1328 ไว้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในวงเงิน 120,000,000 บาท และขึ้นจำนองเป็นประกันอีก 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 310,000,000 บาท และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15497 ส่วนเจ้ามรดกจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15113 เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวด้วย นอกจากผู้จัดการมรดกเป็นผู้จำนองแล้ว ผู้จัดการมรดกยังเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าวด้วย เมื่อโรงแรมมุกดารา บีช รีสอร์ท ได้รับความเสียหายทั้งหมดเนื่องจากเหตุสึนามิทำให้บริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด เป็นหนี้สถาบันการเงินไม่น้อยกว่า 310,000,000 บาท และเป็นผลให้ในปี 2547 บริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด มีหนี้สิน 658,237,145.46 บาท เป็นเหตุให้สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ให้จำเลยที่ 1 รับภาระหนี้ทั้งในนามของบริษัทและในนามส่วนตัวและของเจ้ามรดกด้วย ภายหลังศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย จึงมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกที่จะกระทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับภาระหนี้แทนเจ้ามรดกและชำระหนี้แทนเจ้ามรดก จึงเป็นการกระทำในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ตาย ไม่ใช่ทำในฐานะส่วนตัวที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จำนองอีกรายหนึ่งที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้จำนองอื่น ๆ ต่อไปได้ไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 725 และไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด ในฐานะผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 กองมรดกของผู้ตายจึงเป็นลูกหนี้จำเลยที่ 1 และมีความผูกพันที่จะชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 โอนหุ้นของเจ้ามรดกที่มีอยู่ในบริษัททั้งห้าบริษัทและโอนที่ดินของเจ้ามรดกทุกแปลงมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่จะนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทอีก และเมื่อนำหนี้สินของบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด มาเฉลี่ยในส่วนหนี้เจ้ามรดกแล้ว เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะขอแบ่งทรัพย์มรดกในส่วนของหุ้นและที่ดินของเจ้ามรดก ส่วนบริษัทมุกดารา บีช รีสอร์ท จำกัด มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กองมรดก เนื่องจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนเจ้ามรดกไปนั้น ถือเป็นคนละส่วนกับที่เป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องดำเนินการเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากทายาทเห็นว่าผู้จัดการมรดกจัดการมรดกไม่ถูกต้องทำให้ทายาทเสียหายก็เป็นเรื่องที่ทายาทจะไปฟ้องร้องผู้จัดการมรดกอีกต่างหาก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1720 ที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 809 ถึง 812, 819 และ 823 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share