คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7109/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เมื่อเหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่ อ. ผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองและเป็นผู้เอาประกันภัยรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ ไว้กับจำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความมิใช่ยกฟ้องเพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน จำนวน 4,861,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 1,141,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ ให้จำเลยที่ 3 รับผิดไม่เกิน 400,000 บาท และจำเลยที่ 4 รับผิดไม่เกิน 380,000 บาท กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน ทน 9436 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 4 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองรถแท็กซี่คันดังกล่าวเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ศ – 6174 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับและจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย เป็นเหตุให้นายอำพน ซึ่งโดยสารมาในรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับถึงแก่ความตาย พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3261/2545 หมายเลขแดงที่ 1835/2546 ของศาลอาญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) 157 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์เป็นมารดาของผู้ตาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อันเป็นการระงับข้อพิพาททางละเมิดแล้วและเมื่อจำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 นั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 4 ไม่มีข้อความตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน เพราะไม่มีข้อความที่โจทก์ตกลงจะไม่ฟ้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายทางละเมิดต่อจำเลยที่ 4 แม้จะเขียนว่าเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 แต่เป็นเพียงบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 4 ยอมรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 5 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไป จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยยังต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัย ซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ เห็นว่า เหตุวินาศภัยได้เกิดขึ้นแก่นายอำพนผู้ตาย จากการขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 5 ผู้ครอบครองรถแท็กซี่ที่จำเลยที่ 2 ขับ จะต้องรับผิดชอบด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เป็นเพราะฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 เพราะจำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดชอบในเหตุรถเฉี่ยวชนกัน จำเลยที่ 4 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันภัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ชอบแล้ว ส่วนปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ได้อุทธรณ์ในปัญหานี้มาแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยทั้งในเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยที่ 4 ชำระให้แก่โจทก์จำนวน 80,000 บาท สามารถนำไปหักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยได้หรือไม่ ค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะควรมีจำนวนเพียงใด ไว้โดยละเอียด ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหานี้ซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share