แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำของ ส. ที่ดำเนินการเพื่อให้ได้ที่ดินของโจทก์มาแต่ต้นก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับเอาที่ดินไว้จากโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่ง ส. ทำไว้แทนตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันข้อสัญญาที่นายสมหมายให้ไว้ต่อโจทก์ว่าจะหาที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๐๕๔ ตำบลเพ็ญอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เพื่อใช้ประโยชน์ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี และให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรม การให้ที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ ได้หรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์แบ่งที่ดินและจดทะเบียนยกให้แก่จำเลยที่ ๑ เพื่อใช้ประโยชน์ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี เกิดจากการที่นายสมหมายหัวหน้าชุดก่อสร้างทางสายเพ็ญ-สินเจริญ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท จังหวัดอุดรธานี ซึ่งขณะนั้นอยู่ในสังกัดของจำเลยที่ ๑ ไปติดต่อขอที่ดินของโจทก์เพื่อสะดวกในการก่อสร้างทางสายดังกล่าว โดยมีการพูดจูงใจและให้สัญญาต่อโจทก์ว่าจะหาที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินโจทก์ มิได้เกิดจากความประสงค์ของโจทก์ที่จะบริจาคที่ดินให้แก่หน่วยงานราชการโดยแท้จริงมาแต่แรกแต่อย่างใด เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๗ โดยโจทก์เป็นเพียงชาวบ้านในชนบทและนายสมหมายเป็นหัวหน้าชุดในการก่อสร้างทาง การแสดงออกของนายสมหมายย่อมทำให้โจทก์เข้าใจและเชื่ออย่างสนิทใจว่านายสมหมายเป็นผู้ที่มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยนที่ดินกับโจทก์ได้ ทั้งในการโอนที่ดินที่ต้องโอนให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น ก็เชื่อว่าเป็นเพราะสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี มิได้มีสภาพเป็นนิติบุคคลที่จะรับโอนที่ดินได้ จึงต้องให้จำเลยที่ ๑ อันเป็นต้นสังกัดและเป็นนิติบุคคล เป็นผู้รับโอนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี การทำนิติกรรมในลักษณะเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านสูงวัยจะสามารถคิดและไปดำเนินการเองได้และโดยเข้าใจอย่างถ่องแท้ในสิ่งที่ได้กระทำไป หากแต่เชื่อว่าเกิดจากการดำเนินการของจำเลยที่ ๑ สืบเนื่องจากที่นายสมหมายได้ดำเนินการไว้มากกว่า และการกระทำของนายสมหมายที่ดำเนินการเพื่อให้ได้ที่ดินของโจทก์มาตั้งแต่ต้นก็เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดในขณะนั้น มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน การที่จำเลยที่ ๑ ยอมรับเอาที่ดินไว้จากโจทก์ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อได้แสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งนายสมหมายทำไว้แทนตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๖ แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงต้องผูกพันข้อสัญญาตามที่นายสมหมายให้ไว้ต่อโจทก์ว่าจะหาที่ดินมาแลกเปลี่ยนกับที่ดินโจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมหมายว่า ขณะที่นายสมหมายให้สัญญาไว้ต่อโจทก์ไม่มีที่ดินที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับโจทก์ หากแต่นายสมหมายเพียงคาดหวังว่าจะมีผู้ใจบุญยกที่ดินให้แล้วจึงจะนำไปแลกเปลี่ยนให้แก่โจทก์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่านายสมหมายแจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด ซึ่งหากไม่มีข้อตกลงเรื่องที่จะนำที่ดินไปแลกเปลี่ยนกัน โจทก์ย่อมไม่ยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เป็นแน่ ดังนั้น การที่โจทก์จดทะเบียนยกให้ที่ดินแก่จำเลยที่ ๑ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี จึงเกิดจากการสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินกัน มิใช่เป็นการให้โดยเสน่หาและโดยไม่มีค่าตอบแทน อันเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างและฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดิน กับให้จำเลยที่ ๑ ในฐานะคู่สัญญาและจำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ ๑ คืนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ วรรคหนึ่ง และการที่ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมกับให้จำเลยทั้งสองคืนที่ดินให้แก่โจทก์ ไม่เป็นกรณีที่ต้องไปดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๕ เพราะมิใช่เป็นการโอนแก่กันตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรม การให้ที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดที่ดินโดยทันที และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ วรรคแปด บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขการจดทะเบียนสิทธิหรือนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์อย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาให้ที่ดินเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา อันเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก) เลขที่ ๑๐๓ ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งต่อมาออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๒๐๕๔ ตำบลเพ็ญ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เพื่อใช้ประโยชน์ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๓ เสีย คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ