คำวินิจฉัยที่ 7/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗/๒๕๔๖

วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๖

เรื่อง การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐

ศาลจังหวัดศรีสะเกษ
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดศรีสะเกษส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นกับศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
ห้างหุ้นส่วนจำกัดถนอมรัตน์ โดยนายถนอมศักดิ์ นิ่มกิ่งรัตน์ หุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง องค์การบริหารส่วนตำบลอี่หล่ำ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ ความว่า จำเลยได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำห้วยกุง ตำบลอี่หล่ำ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล โจทก์ได้เข้าร่วมยื่นซองเสนอราคาเพื่อประมูลการก่อสร้างสะพาน แต่ก่อนที่จะถึงกำหนดยื่นซองและพิจารณาผลการประกวดราคา นายวีระยุทธ จันทร์อบ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาผลผู้หนึ่งได้แจ้งต่อโจทก์ว่าต้องการขอรับงานดังกล่าวที่ได้ประมูลนี้ไปดำเนินการก่อสร้างโดยจะพิจารณาให้โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคา แต่โจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วย ต่อมาเมื่อมีการเปิดซองเสนอราคาแล้ว ปรากฏว่าโจทก์เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด แต่ไม่ได้รับเลือกให้เข้าทำสัญญาก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กกับจำเลย โดยคณะกรรมการพิจารณาผลให้เหตุผลว่าผลงานของโจทก์ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๐๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาและทำการสืบพยานโจทก์นัดแรก วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเข้าลักษณะคดีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๑) (๓) และ (๔) จึงควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เมื่อศาลปกครองนครราชสีมาได้เปิดทำการแล้วตั้งแต่วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๔๔ ก่อนวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนครราชสีมา
ศาลจังหวัดศรีสะเกษพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ สามารถฟ้องคดีได้ทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง เมื่อคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดศรีสะเกษ)
ศาลปกครองนครราชสีมาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ เกิดจาก จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามลำห้วยกุง ตำบลอี่หล่ำ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ เมื่อได้มีคำสั่งอนุมัติจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดประกิตลักษณ์ก่อสร้าง เป็นผู้รับจ้าง โดยไม่อนุมัติจ้างโจทก์ คำสั่งนี้จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามข้อ ๑(๒) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คือ ศาลปกครองนครราชสีมา
ภายหลังที่ศาลมีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลของจำเลยว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ กำหนดให้คู่ความยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยาน เมื่อคดีนี้ศาลได้เริ่มสืบพยานไปบ้างแล้ว คำร้องของจำเลยจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลปกครองนครราชสีมาจะมีความเห็นว่าคดีนี้ควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนครราชสีมา จึงต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามกฎหมายต่อไป

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น…” คดีนี้เอกชนผู้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีและดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่อยมาโดยมิได้มีการโต้แย้งเขตอำนาจของศาลจังหวัดศรีสะเกษแต่ประการใด จนกระทั่งมีการสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ และมีการสืบพยานโจทก์เรื่อยมาอีกหลายนัด ต่อมาวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ จำเลยยื่นคำร้องว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองนครราชสีมา ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ กำหนดว่าหากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องภายหลังจากวันสืบพยาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งภายหลังจากที่จำเลยถูกฟ้องแล้ว ก็ได้ยื่นคำให้การและดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่อยมาโดยตลอด อันมีพฤติการณ์ยอมรับว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนการที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษทำความเห็นกับส่งความเห็นและดำเนินการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เป็นการพิจารณาสั่งตามคำร้องของจำเลย มิใช่เป็นกรณีที่ศาลเห็นเองอันจะดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้ก่อนมีคำพิพากษา คำร้องของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า เมื่อคำร้องของจำเลยได้ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นคำร้องที่ยื่นไว้โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้มีคำสั่งยกคำร้องจำเลยคดีนี้เสีย และศาลจังหวัดศรีสะเกษมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไป

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share