คำวินิจฉัยที่ 6/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๔๖

วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดแม่สอด

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
นางสาววรารัตน์ พันธุรัตน์ และนางวราลี จันทร์ธิวัตรกุล โดยนายจรูญ พันธุรัตน์ ฟ้องเจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ต่อศาลปกครองกลาง ความว่า นางสาววรารัตน์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๔๙ และนางวราลีเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๕๐ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๐ สนามบินแม่สอด (กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ) ได้นำหลักเขต ท.อ. ไปปักในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๔๙ และ ๑๑๐๕๐ ดังกล่าวทำให้นางสาววรารัตน์และนางวราลีได้รับความเสียหาย เนื่องจากจำนวนที่ดินลดลงอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตากและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตากเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๔๙ และ ๑๑๐๕๐
กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศให้การว่า สนามบินแม่สอด จังหวัดตากเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และกองทัพอากาศเป็นผู้ดูแลใช้ประโยชน์ การที่กรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศปักหลักเขต ทอ. เพื่อเป็นการแสดงขอบเขตและรักษาสิทธิในที่ดินราชพัสดุ เป็นการรักษาทรัพย์สินของทางราชการและป้องกันผู้บุกรุก ซึ่งมีการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๐๔๙ และ ๑๑๐๕๐ ทับที่ดินราชพัสดุดังกล่าว และได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลางว่า กรณีพิพาทคดีนี้ เป็นการพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุหรือไม่ ควรฟ้องเป็นคดีที่ศาลจังหวัดแม่สอดซึ่งเป็นศาลยุติธรรม เพราะการรังวัดสอบเขต การปักหลักเขต แม้เป็นการกระทำของฝ่ายปกครองแต่ก็เป็นการกระทำที่สืบเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของผู้ครอบครองดูแลที่ดินพิพาทในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน การกระทำนั้นไม่เป็นการละเมิดทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ศาลต้องมีคำวินิจฉัยใน ๒ ประเด็น คือ
๑. การที่ผู้ถูกฟ้องคดี (เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ) นำเอาเสาปูนที่มีตัวหนังสือ ท.อ. พร้อมแผ่นป้ายไปปักในที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นส่วนราชการผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้หรือครอบครองที่ราชพัสดุ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลและบำรุงรักษาที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำหลักเสาปูนที่มีตัวอักษร ท.อ. และป้ายปักในที่ดินนั้น เป็นอำนาจตามกฎหมาย (ข้อ ๑๔ วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘) จึงเป็นคดีตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
๒. ความชอบของทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงเลขที่ ตก ๑๔๙ และ น.ส.ล. เลขที่ ๗๗/๒๔๗๙ ในส่วนที่ทับซ้อนที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑๐๔๙ และ ๑๑๐๕๐ เป็นคำขอให้ศาลพิจารณาความชอบของหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงและทะเบียนที่ราชพัสดุ หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงรวมทั้งทะเบียนที่ราชพัสดุได้กระทำขึ้นโดยการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๘ ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ( พ.ศ. ๒๕๑๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๒) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดแม่สอดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คู่ความต่างฝ่ายต่างโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินราชพัสดุ ซึ่งการพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งก็มิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะการกระทำอื่นใด ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕ และที่ ๒๙/๒๕๔๕

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ราชพัสดุสำหรับใช้ในราชการกองทัพอากาศ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่อ้างหรือไม่ จึงจะสามารถพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำของกรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
นอกจากนั้นการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครอง การใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และพยานหลักฐานการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีตลอดจนการใช้ประโยชน์ของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงกับผู้ฟ้องคดีในพื้นที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อมีการโต้แย้งสิทธิในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดี ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๓๐/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นางสาววรารัตน์ พันธุรัตน์ ที่ ๑ นางวราลี จันทร์ธิวัตรกุล ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดแม่สอด

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share