คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6605/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปความได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีเจตนาพิเศษที่จะบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำลายป่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ป.ที่ดิน ป.อ. มาตรา 362 โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 คำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้อ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายโดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งดังกล่าวมาในฟ้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ มิใช่ความผิดที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้าโดยตรง บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างมา ไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีอาญาได้แม้ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 72 ตรี ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91, 362
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดไต่สวนมูลฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) หรือต้องเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 คดีนี้โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องสรุปได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณหมู่ที่ 6 บ้านเขายายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 21 ไร่ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาเตียน – เขาเขื่อนลั่น มีเจตนาพิเศษที่จะบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นการยึดถือ ครอบครอง ทำประโยชน์แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทำลายป่า โดยมิได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 และ 31 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 และ 72 ตรี ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 และ 108 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 91 และ 362 โจทก์ทั้งห้าเป็นประชาชนคนไทยย่อมมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 ที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพและในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน คำบรรยายฟ้องดังกล่าวได้อ้างถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิด แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายโดยแจ้งชัดว่าการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหายเนื่องจากกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งดังกล่าวมาในฟ้อง ซึ่งล้วนเป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ มิใช่ความผิดที่กระทำต่อโจทก์ทั้งห้าโดยตรง โจทก์ทั้งห้าไม่ได้รับความเสียหายโดยตรง บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และ 67 ที่โจทก์ทั้งห้ากล่าวอ้างในคำฟ้องและในฎีกาไม่มีข้อความตอนใดที่ให้สิทธิโจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีอาญาได้แม้ไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษจากการกระทำของจำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งห้าไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share