คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ จึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุให้รับเอาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1162 บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 แล้ว ส่วนการที่มีการเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้ ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าการนัดประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับและเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัท ข้อที่ 14 และข้อที่ 18 อีกทั้งฝ่าฝืนมาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 และมาตรา 1162 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การนัดและการประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ของคณะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ในวันที่ 29 เมษายน 2547 เป็นการนัดและการประชุมที่ไม่ชอบ และขอให้เพิกถอนมติการประชุมพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ของคณะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 ทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า การนัดเรียกประชุมและการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การจัดการประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการด้วยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นการขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับ ข้อ 14 และข้อ 18 และฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 และมาตรา 1162 นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า หลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้ตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ กรณีจึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับข้อ 14 ที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดเหตุกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุว่า “ให้รับเอาบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัทนี้…” ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1162 บัญญัติว่า “กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้” ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 อันเป็นการนัดเรียกประชุมกรรมการที่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น จะเห็นได้ว่าตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้แต่อย่างใด ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ตามที่โจทก์ฎีกากล่าวอ้างนั้น ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ อีกทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ตอบทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถามว่า การประชุมครั้งที่พิพาท พยานและจำเลยที่ 2 เรียกประชุมโดยประกาศทางหนังสือพิมพ์ เนื่องจากไม่สามารถติดต่อกับโจทก์ได้ โดยพยานเคยโทรศัพท์และมีหนังสือแจ้งไป แต่หนังสือไม่มีผู้รับและโทรศัพท์ไม่มีผู้รับเช่นกัน และตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า นับตั้งแต่โจทก์ถูกปลดจากประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เคยเข้าร่วมประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 อีกเลย ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านหรือโต้เถียงแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ดังนั้น การนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด การจัดการประชุมกรรมการและการลงมติของที่ประชุมเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547 จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share