แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดย ไม่ชำระค่าเช่าจึงขอให้ขับไล่จำเลย ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหายคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินที่โจทก์ได้ชำระแทนไปข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดย จำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่า มิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ไม่เป็นฟ้องซ้อน หุ้นส่วนที่จะฟ้องบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนสามัญได้จะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 การฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคน เมื่อตามสัญญาเช่ามีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่า และไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์และเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์ลาดกระบังเธียเตอร์ โดย มีโจทก์ที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยได้ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์ของโจทก์ทั้งสี่ และเช่ากิจการต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 3 รายการ คือ ทำสัญญาเช่าโรงภาพยนตร์หนึ่งฉบับ สัญญาเช่าสำนักงาน ห้องพากย์ภาพยนตร์ ห้องติดตั้งเครื่องปรับอากาศหนึ่งฉบับ และสัญญาเช่าห้องใต้อัฒ จันทร์โรงภาพยนต์ ห้องควบคุมไฟฟ้า ห้องพักหลังจอภาพยนตร์ อีกหนึ่งฉบับโดย มีกำหนดอายุสัญญาเช่า 3 ปี 9 เดือน เหมือนกันทั้งสามฉบับนับตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์2529 ค่าเช่าทั้งสามรายการเป็นเงินเดือนละ 30,000 บาท จำเลยจะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือน จะต้องเป็นผู้ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า แต่ไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาเช่า จำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและนำคดีไปฟ้องที่ศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 ศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาขับไล่จำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 368/2528คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยยังมิได้ชำระค่าน้ำประปาประจำเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม2527 เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 4,511 บาท ไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าในเดือนธันวาคม 2526 มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2527 พร้อมด้วยดอกเบี้ย ในการผิดนัดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 74,188.44 บาท และค้างภาษีโรงเรือนในปี 2525 เป็นเงินจำนวน 16,992 บาท เบี้ยปรับจำนวน 1,699.20 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 18,691.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 97,390.64 บาท โจทก์ชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าค่าภาษีโรงเรือนและเบี้ยปรับแทนไปแล้ว โจทก์ทวงถามเงินดังกล่าวคืนแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน97,390.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามสัญญาที่จะต้องเสียภาษีโรงเรือนของปี 2525ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำเลยไม่เคยค้างชำระ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาค่ากระแสไฟฟ้า รวมเป็นเงินจำนวน 78,699.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 368/2528 ของศาลจังหวัดมีนบุรีหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์และฎีกาของจำเลยว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 368/2528 ของศาลจังหวัดมีนบุรี โจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่าโดย ไม่ชำระค่าเช่า จึงขอให้ขับไล่จำเลยให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างและค่าเสียหาย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเกี่ยวกับการเช่าดังกล่าว โจทก์จำเลยตกลงกันด้วยวาจาว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้า แต่จำเลยต้องเป็นผู้ชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จำเลยไม่ชำระค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าบางเดือน โจทก์ได้ชำระแทนไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าที่โจทก์ได้ชำระแทนไปเห็นว่าข้อตกลงเรื่องโจทก์ยินยอมให้จำเลยใช้น้ำประปาและไฟฟ้าโดย จำเลยเป็นผู้ชำระเงิน เป็นข้อตกลงต่างหากจากสัญญาเช่าจึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแรก ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ตามสัญญาหุ้นส่วนท้ายฟ้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน 5 คน คือ โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3นางสุชาดา กิติมหาคุณ และนางดารณี อุดมลาภประสิทธิ ในการฟ้องคดีจะต้องให้บุคคลทั้งห้าลงลายมือชื่อร่วมกัน แต่หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องคงมีแต่ลายมือชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบทั้งหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม นั้น เห็นว่า แม้ห้างหุ้นส่วนสามัญลาดกระบังเธียเตอร์จะมีหุ้นส่วนหลายคนแต่ในเรื่องความเกี่ยวพันกับบุคคลภายนอกนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1049 บัญญัติว่า “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่” แสดงว่าหุ้นส่วนที่จะฟ้องขอบังคับบุคคลภายนอกในกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจะต้องเป็นผู้มีชื่อในกิจการค้านั้น การที่หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญฟ้องคดีจึงไม่จำเป็นต้องลงชื่อบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนดังที่จำเลยฎีกา แต่อย่างไรก็ตามปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ว่า มีแต่ชื่อโจทก์ที่ 1 ในสัญญา ไม่ปรากฏชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในสัญญาเช่าด้วย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4จึงไม่อาจถือสิทธิใด ๆ แก่จำเลยในการเช่านี้ และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำหรับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์