คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 904/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนอยู่ในแนวเขตที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษกตอนแขวง วัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ.2524และอยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวากรุงเทพมหานครพ.ศ.2525ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ข้อ76จะต้องกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ให้เท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่20ธันวาคม2524และวันที่2พฤษภาคม2525ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับตามลำดับมิใช่กำหนดค่าทดแทนโดยถือตามอัตราในบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว เรื่องเกี่ยวกับการสร้างทางพิเศษต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่290มาใช้บังคับแต่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวข้อ24มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดค่าทำขวัญไว้จึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงอันได้แก่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ข้อ67และข้อ76ในเรื่องค่าทดแทนและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่290ข้อ23วรรคสองกำหนดไว้เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่ที่จะเวนคืนในเขตท้องที่เขต บางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ.2525กำหนดค่าทดแทนให้เท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ข้อ76(1)กำหนดแล้วดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295ข้อ67วรรคสองจึงต้องนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับเพื่อให้สอดคล้องกันด้วยจะนับแต่วันที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ในเขตท้องที่เขต บางขุนเทียนเขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ.2530ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่25กรกฎาคม2530มาใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่290ข้อ24วรรคสองตอนท้ายบัญญัติไว้หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 ตำบล ช่องนนทรี อำเภอยานนาวา (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525กำหนดให้ทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ที่จะสร้างเป็นทางที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วน และเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2524ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524เพื่อที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ในท้องที่เขต บางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนง เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 12 มีนาคม 2525 กำหนดให้ทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษกตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก ในเขตท้องที่ดังกล่าวเป็นทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโดยเร่งด่วนที่ดินของโจทก์ได้ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนเป็นเนื้อที่907 ตารางวา และ 1,190 ตารางวา ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ 1,180,200 บาท และ 1,437,600 บาทตามลำดับ โดยไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม เพราะที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนมีราคาตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับตารางวาละ 8,000 บาท คิดเป็นราคาที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเงิน 7,256,000 บาท และ 9,520,000 บาทตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์อีกเป็นเงิน 6,075,800 บาท และ 8,082,400 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2525และวันที่ 19 ธันวาคม 2524 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ ตามลำดับ ถึงวันฟ้องเป็นเงินดอกเบี้ย 1,860,713.75 บาทและ 2,727,810 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2ใช้เงินให้โจทก์ 7,936,513.75 บาท และ 10,810,210 บาทตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 6,075,800บาท และ 8,082,400 บาท ตามลำดับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนตามมติของคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งได้กำหนดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 และพระราชกำหนดเปลี่ยนแปลงราคาปานกลางของที่ดินที่กำหนดไว้สำหรับประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2528 ประกอบกับสภาพที่ดินและทำเลที่ตั้งแล้ว ที่ดินตามโฉนดทั้งสองแปลงของโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เวนคืนรวมเนื้อที่ 907 ตารางวา จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,800 บาท และ 1,200 บาท รวมเป็นเงิน1,180,200 บาท เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์อยู่ในซอยมิได้อยู่ในย่านชุมนุมชน ห่างไกลโรงพยาบาลและโรงเรียน ราคาซื้อขายไม่ถึงตารางวาละ 8,000 บาท ดังที่โจทก์กล่าวอ้าง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งที่566/2527 ตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สินเพื่อก่อสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ตอน แขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก คณะกรรมการได้กำหนดค่าทดแทนโดยให้ถือราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งได้กำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2524 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 19491ของโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เวนคืน 198 ตารางวา จำเลยที่ 2 ได้กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,800 บาท 16 ตารางวา เป็นเงิน 28,800 บาทและตารางวาละ 1,200 บาท 182 ตารางวา เป็นเงิน 218,400 บาทรวมค่าทดแทนที่ดินแปลงนี้เป็นเงิน 247,200 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 ถูกจำเลยที่ 2 เวนคืน 992 ตารางวา กำหนดค่าทดแทนให้ตารางวาละ 1,200 บาท เป็นเงิน 1,190,400 บาทรวมค่าทดแทนที่ดินทั้งสองแปลงเป็นเงิน 1,437,600 บาทเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ที่ดินของโจทก์เป็นที่ตั้งโกดังเก็บสินค้ามิได้อยู่ในย่านชุมนุมชน ราคาซื้อขายจึงไม่ถึงตารางวาละ8,000 บาท ดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่เรียกร้องนับตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2524 เพราะจำเลยที่ 2ยังไม่ผิดนัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์3,354,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก สำหรับฟ้องของโจทก์สำนวนหลังให้ยกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีใหม่ โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1ใช้ดอกเบี้ยให้โจทก์สำนวนแรกอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน3,354,800 บาท นับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้โจทก์เป็นเงิน4,512,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2524 จนกว่าชำระเสร็จ โจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 และ 5534ตำบล ช่องนนทรี อำเภอยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในแนวเขตที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ-แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 เพื่อที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ในท้องที่เขต บางกอกใหญ่ เขตธนบุรี เขตยานนาวา เขตพระโขนง เขตปทุมวัน เขตห้วยขวาง และเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ธันวาคม 2524เป็นเนื้อที่ 1,190 ตารางวา และอยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นเนื้อที่ 907 ตารางวา จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนเป็นสองอัตราคือ ตารางวาละ 1,800 บาท จำนวน 153ตารางวา อัตราตารางวาละ 1,200 บาท จำนวน 754 ตารางวา จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนจำนวน 1,190 ตารางวาเป็นสองอัตราคือ ตารางวาละ 1,800 บาท จำนวน 16 ตารางวาตารางวาละ 1,200 จำนวน 1,174 ตารางวา
ประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนและจำเลยที่ 1ในข้อแรกมีว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวนเท่าใด เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 กำหนดว่า”เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้(1) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น (2) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น…” ดังนั้น การกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงต้องกำหนดให้เท่าราคาของที่ดินโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 20 ธันวาคม 2524 และวันที่2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสาย รัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ- แขวงสามเสนนอก พ.ศ. 2524 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขต ยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ ตามลำดับแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยถือตามอัตราในบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นเกณฑ์กำหนด อันเป็นราคาคงที่ตลอดเวลาที่ใช้บัญชีดังกล่าว มิใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ เมื่อโจทก์นำสืบโดยมีพยานเอกสารประกอบฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370และ 19990 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินโจทก์มีการจดทะเบียนซื้อขายกันเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2519 วันที่ 24 พฤษภาคม 2521และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 2,921 บาท4,265 บาท และ 5,882 บาท ตามลำดับ ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดิน รวม 6 ฉบับ เอกสารหมาย จ.19ถึง จ.20 ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าราคาตามอัตราที่จำเลยที่ 1 และที่2 ถือเป็นเกณฑ์กำหนดมาก ย่อมเห็นได้ว่าค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กำหนดให้แก่โจทก์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้วมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1ที่คัดค้านว่าค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยที่ 1 กำหนดเป็นการชอบแล้วจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในอัตราตารางวาละ 8,000 บาทนั้นเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าที่ดินบริเวณเดียวกันกับของโจทก์มีการซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับในราคาตารางวาละ 8,000 บาท โจทก์คงนำสืบได้ความเพียงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 19990 ซึ่งอยู่ติดซอย ศรีนคร เช่นเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 ของโจทก์โดยอยู่ห่างกันเพียงประมาณ200 เมตร สภาพของที่ดินเหมือนกัน มีการซื้อขายกันเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 ในราคาเฉลี่ยตารางวาละ 5,882 บาทดังนั้น ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 จึงควรมีราคาเฉลี่ยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2523 เท่ากับราคาเฉลี่ยของที่ดินโฉนดเลขที่ 19990 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5534 ซึ่งอยู่ด้านหลังและมีพื้นที่ติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19491 ของโจทก์มีระยะห่างซอย ศรีนคร ประมาณ 20 เมตร มีทางออกสู่ซอย ศรีนคร ได้สองช่องทางปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนเอกสารหมาย จ.10 ก็ควรมีราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกันและเนื่องจากที่ดินจะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับห่าง ดังนั้น เมื่อที่ดินมีราคาเพิ่มขึ้นในอัตราปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ตามคำเบิกความของนาย มนตรี องค์พนสารกุล พยานโจทก์ ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 ก็จะมีราคาเฉลี่ยในปลายปี พ.ศ. 2524 และต้นปีพ.ศ. 2525 ประมาณตารางวาละ 6,470 บาท ส่วนโฉนดเลขที่ 5534ก็จะมีราคาใกล้เคียงกัน ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่า ค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนควรได้รับในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 8,000 บาท จึงยังรับฟังไม่ได้ แต่ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดราคาให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ต่ำไปกว่าราคาเฉลี่ยของที่ดินโฉนดเลขที่19990 ที่ซื้อขายกันในปี พ.ศ. 2523 ถึง 882 บาท เป็นการฝืนต่อความจริง ซึ่งที่ดินบริเวณดังกล่าวราคามีแต่เพิ่มสูงขึ้นดังปรากฏตามราคาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370 และ19990 ที่กล่าวไว้แล้ว นอกจากนี้ นาย มนตรี องค์พนสารกุล ซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ศรีนคร จำกัด ในหน้าที่ประเมินหลักทรัพย์มานาน 16 ปี ก็เบิกความยืนยันว่า ราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 20599, 12370 และ 19990 จะมีราคาเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อคำนวณถึงวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับ ที่ดินโฉนดเลขที่ 19990จะมีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 6,470 บาท ฉะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 19491ของโจทก์ ซึ่งสภาพที่ดินและทำเลเหมือนกับที่ดินโฉนดเลขที่ 19990จึงควรมีราคาเฉลี่ยในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับใช้บังคับตารางวาละ 6,470 บาทด้วย และที่ดินโฉนดเลขที่ 5534 ก็ควรมีราคาใกล้เคียงกัน เมื่อจำเลยทั้งสองกำหนดราคาที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 แตกต่างกัน 600 บาท ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 5534 จึงมีราคาในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,870 บาทดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงควรมีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 8,000 บาท จึงเห็นได้ว่าสูงเกินไปและที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 5,000 บาทนั้นก็ต่ำเกินไป ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 ตามราคาธรรมดาในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับให้ในอัตราเฉลี่ยตารางวาละ 6,470 บาท และ 5,870 บาท ตามลำดับ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองสำนวนฟังขึ้นบางส่วน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนที่ดินของโจทก์ โฉนดเลขที่ 19491 และ 5534 จำนวนเนื้อที่180 ตารางวา และ 727 ตารางวา รวม 907 ตารางวากับ 198 ตารางวาและ 992 ตารางวา รวม 1,190 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 และที่ 2จึงต้องชำระค่าทดแทนให้แก่โจทก์ จำนวน 5,432,090 บาท และ7,104,100 บาท ตามลำดับ จำเลยที่ 1 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียง 1,180,200 บาท จำเลยที่ 2 กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียง1,437,600 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน4,251,890 บาท จำเลยที่ 2 ต้องชำระเพิ่มให้แก่โจทก์จำนวน5,666,500 บาท
ประเด็นที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2530 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา พ.ศ. 2530 ใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ24 วรรคสองตอนท้าย ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จะนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสองตอนท้าย อันเป็นกฎหมายบททั่วไปมาใช้หาได้ไม่ นั้นเห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 1เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างทางพิเศษ แม้จะต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มาใช้บังคับก็ตาม แต่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดค่าทำขวัญไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยทางหลวงในส่วนที่ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงอันได้แก่ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 และข้อ 76 ในเรื่องเงินค่าทดแทนและดอกเบี้ยสำหรับจำนวนเงินที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 ข้อ 23 วรรคสองกำหนดไว้ ดังนั้นเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 67 วรรคสอง กำหนดว่า”ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเงินเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินนั้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ” และคดีนี้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งจะต้องกำหนดค่าตอบแทนเท่าราคาของที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76(1) กำหนดแล้ว ดอกเบี้ยสำหรับเงินค่าทดแทนที่ศาลพิพากษาให้เจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ชำระเพิ่มขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295ข้อ 67 วรรคสอง จึงต้องนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเพื่อให้สอดคล้องกันด้วยจะนับแต่วันที่ได้มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสาย ดาวคะนอง-ท่าเรือ ในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2530 มาใช้บังคับตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ข้อ 24 วรรคสองตอนท้ายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งหาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์สำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขต บางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525ใช้บังคับศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 4,251,890 บาท ให้จำเลยที่ 2ใช้ค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 5,666,500 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share