คำวินิจฉัยที่ 5/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๔๙

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดสกลนคร
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสกลนครโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งความเห็นให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร โจทก์ ยื่นฟ้องนายสุวิทย์ เดชภูมี ที่ ๑ กับพวก รวม ๒ คน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสกลนคร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยที่ ๑ กับพวก ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายและดอกเบี้ยแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครกับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จโดยการปลอมลายมือชื่อนายไชยา กิ่งชัยวงค์ เจ้าของร้านรัตติยาพานิชย์ และนางนันทา แจ่มบุญมาเจ้าของร้านวิลาวรรณ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าแข่งขันเสนอราคาขายวัสดุ (มุ้ง) และแข่งขันกับร้านประยงค์ ซึ่งมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายประยงค์ อิงเอนุ เจ้าของร้านให้เป็นผู้เสนอราคา ในการจัดซื้อวัสดุของโจทก์ตามโครงการป้องกันไข้เลือดออกในเขตพื้นที่อำเภอวานรนิวาสจังหวัดสกลนคร ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการเปิดซองราคาหลงเชื่อว่า นายไชยาและนางนันทาเป็นผู้ยื่นซองและเสนอราคาต่อโจทก์ และราคาที่ร้านประยงค์เสนอเป็นรายที่ต่ำสุดและเหมาะสม ทำให้โจทก์ตกลงซื้อมุ้งจากร้านประยงค์ ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นการจัดซื้อที่มีราคาแพงกว่าปกติ ซึ่งโจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีนี้
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ การจัดซื้อมุ้งจำเลยที่ ๑ ได้ลงนามเป็นผู้ซื้อในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดยตรวจสอบความถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยใช้ราคาท้องตลาดตามที่เจ้าหน้าที่รายงานเป็นเกณฑ์ในการซื้อเนื่องจากมุ้งที่จะจัดซื้อไม่มีกำหนดไว้ในราคามาตรฐานพัสดุและจำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่าลายมือชื่อของผู้ยื่นซองสอบราคาเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าลายมือชื่อของผู้ยื่นซองจะเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ และในการเสนอขายมุ้งให้แก่โจทก์ในนามของร้านประยงค์นั้นก็มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ จำเลยที่ ๒ทำการยื่นซองเสนอราคาต่อโจทก์เป็นการทำการค้าโดยสุจริต และไม่ได้ปลอมแปลงเอกสารของนายไชยาและนางนันทา ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ทั้งโจทก์จะเข้าทำสัญญากับผู้ใดย่อมเป็นไปตามระเบียบของโจทก์ จำเลยที่ ๒ ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ต่อมา จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑กระทำละเมิดต่อโจทก์ในขณะที่จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในหน่วยงานของโจทก์ โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นกรณีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นเรื่องที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองแล้ว และโจทก์ฟ้องคดีว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันทำละเมิดที่มีมูลหนี้เป็นอย่างเดียวกัน กรณีเดียวกันจึงไม่อาจแยกพิจารณาพิพากษาเฉพาะส่วนของจำเลยที่ ๒ ที่ศาลจังหวัดสกลนครได้
ศาลจังหวัดสกลนครเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์จึงเป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองขอนแก่น
ศาลปกครองขอนแก่นเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตใช้อำนาจหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย กรณีจึงถือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง สำหรับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายประยงค์ เจ้าของร้านประยงค์ ซึ่งมีฐานะเป็นเอกชน จำเลยที่ ๒ จึงมิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การกระทำของจำเลยที่ ๒ อันทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงมิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องที่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การคดีนี้สรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร โจทก์ ทำการจัดซื้อวัสดุ (มุ้ง) ตามโครงการป้องกันไข้เลือดออกในเขตพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โดยวิธีการสอบราคา แต่จำเลยที่ ๑ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครในขณะนั้น ได้ร่วมกันกับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสนอราคารายหนึ่ง (ร้านประยงค์) กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการปลอมแปลงลายมือชื่อบุคคลอื่นเข้ายื่นซองและเสนอราคา ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้าเป็นผู้เสนอราคาในการสอบราคาดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการเปิดซองราคาของโจทก์หลงเชื่อว่ามีผู้เสนอราคาในราคาที่สูงกว่าจำเลยที่ ๒ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการตกลงซื้อวัสดุ (มุ้ง) จากจำเลยที่๒ในราคาที่สูงกว่าปกติ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังนั้น คดีนี้ โจทก์เป็นหน่วยราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่หน่วยงานทางปกครองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดและเอกชนอันเนื่องมาจากการทำละเมิด ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นสอดคล้องกันว่าคดีในส่วนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๒ เป็นเอกชนมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเป็นกรณีโจทก์ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันทำละเมิด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเดียวกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีทั้งสองจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาที่ศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัดังนั้นคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร โจทก์นายสุวิทย์ เดชภูมี ที่ ๑ นายวีระศักดิ์ หล้าพิศาล ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share