คำวินิจฉัยที่ 5/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๔๖

วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
นางบุญสม มงคลศิลป์กับพวก รวม ๒ คน ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างว่า ผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากมารดา ในท้องที่ หมู่ที่ ๖ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ ๒ งาน ซึ่งได้ซื้อมาจากนายบัว (ไม่ทราบนามสกุล) เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ แต่ไม่เคยแจ้งการครอบครองและขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทมาก่อน ต่อมาผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินสมุทรปราการเพื่อรังวัดออกโฉนดที่ดิน ซึ่งช่างรังวัดได้ดำเนินการรังวัดให้แล้ว ในวันรังวัด นายช่างแขวงการทางสมุทรปราการได้ไประวังชี้แนวเขตที่ดินและไม่ลงนามรับรองแนวเขตที่ดินตามที่รังวัดได้ เนื่องจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒๕๖ ตอนแยกซอยอ่อนนุช (ลาดกระบัง) – บางพลี บริเวณที่พิพาทต้องมีเขตทางจากจุดศูนย์กลางทางหลวงดังกล่าวข้างละ ๒๐ เมตร แต่หลักเขตที่ดินอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางเป็นระยะ ๑๒.๐๐ เมตรและ ๘.๖๕ เมตร ซึ่งล้ำเขตทางเป็นระยะ ๘.๐๐ เมตรและ ๑๑.๓๕ เมตร ตามลำดับ ต่อมาศาลปกครองกลางได้รับโอนเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามมาตรา ๑๐๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้นายช่างแขวงการทางสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับรองแนวเขตที่ดินตามหลักเขตของทางหลวงที่มีอยู่เดิม หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ยอมรับรองแนวเขตก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่าเขตที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ตรงหลักเขตทางหลวงที่มีอยู่เดิม เพื่อเจ้าพนักงานที่ดินสมุทรปราการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะได้ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต่อไป
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน โดยผู้ฟ้องคดีขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันย่อมอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ สำหรับคดีนี้การที่จะพิจารณาว่าที่ดินส่วนที่มีการโต้แย้งกันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ นอกจากจะต้องพิจารณาประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางจึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำฟ้อง ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การกำหนดเขตทางหลวงที่พิพาทมีระยะ ๒๐ เมตร ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ไม่ยืนยันด้วยว่า ระยะดังกล่าวเป็นเขตทางหลวงที่ได้กำหนดตามกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีโฉนดที่ดิน จึงยังไม่มีผู้ใดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็มิได้คัดค้านว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองมิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และตามประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งกรณียังถือไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิกันซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ แม้ว่าทางหลวงรวมทั้งเขตทางหลวงจะเป็นทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ (๒) ซึ่งไม่อาจออกโฉนดที่ดินได้แต่การกำหนดเขตทางหลวงย่อมต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๕ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๖๔ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความในประเด็นหลักเสียก่อนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนดเขตทางหลวงที่พิพาทถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่รับรองแนวเขตที่ดินพิพาทด้านข้างเคียงทางหลวงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ส่วนเรื่องสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผลสืบเนื่องจากการพิจารณาเรื่องการกำหนดเขตทางหลวงและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ดังกล่าว ดังนี้ ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยตรง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) จึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับคดีนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่พิพาทต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้นัดวันเพื่อทำการรังวัดและแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบเพื่อไประวังชี้แนวเขตที่ดิน เมื่อถึงวันนัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกไปทำการระวังชี้แนวเขตและเห็นว่าที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดิน จึงไม่ยอมรับรองหลักเขต ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่ออกโฉนดให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้สั่งการและส่งเจ้าพนักงานไปทำการระวังชี้แนวเขตแล้ว แต่เจ้าพนักงานเห็นว่าที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดิน และไม่ยอมรับรองหลักเขต จึงมิใช่เป็นการพิพาทว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่เป็นการที่เจ้าพนักงานเห็นว่าที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงแผ่นดิน ส่วนผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นว่า เป็นที่ดินของตน ทั้งคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับรองแนวเขต หากไม่ยอมรับรองก็ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอยู่ตรงหลักเขตทางหลวง จึงเป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่เป็นสำคัญ ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล คงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่าที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งสิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
นอกจากนั้น การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนใน หมู่ ๖ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นางบุญสม มงคลศิลป์ ที่ ๑ นางฉลวย เกตุกรรณ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี นายช่างแขวงการทางสมุทรปราการ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสมุทรปราการ

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share