คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6560/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินเนื้อที่ 13 ไร่เป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้จำเลยแบ่งที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทคนละ 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นที่ดินรวมกัน7 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ราคา 78,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ดินทั้งสามส่วนดังกล่าวเป็นของจำเลยจึงไม่อาจแยกคิดทุนทรัพย์แต่ละส่วนตามที่โจทก์ทั้งสามขอมาได้ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์78,000 บาท ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยและนายบุญนาค ประมงค์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2531นายบุญนาคซึ่งไม่มีภริยาและบุตรได้ถึงแก่ความตาย มีที่ดินมือเปล่า1 แปลง อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ 13 ไร่ ราคาไร่ละ 10,000 บาทเป็นทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ร่วมกันครอบครองที่ดินมรดกตลอดมา ต่อมาจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาคตามคำสั่งศาลชั้นต้น และได้ครอบครองที่ดินมรดกแทนทายาท โจทก์ทั้งสามได้ขอให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์คนละ 1 ใน 5 ส่วน เป็นเนื้อที่คนละ 2 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา รวมเป็นที่ดิน 7 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา คิดเป็นราคา 78,000 บาท แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินมรดกของนายบุญนาคดังกล่าวโดยส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 2 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา รวมเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา หากไม่สามารถแบ่งแยกที่ดินได้ให้นำที่ดินมาขายทอดตลาดเพื่อนำเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินมือเปล่าตามฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายบุญนาค แต่เป็นที่ดินที่จำเลยหักร้างถางพงเข้าครอบครองทำประโยชน์มานานกว่า 20 ปี แล้ว เมื่อประมาณ 7 ถึง 8 ปี มาแล้วจำเลยได้ชวนนายบุญนาคน้องชายมาทำสวนทำไร่ในที่ดินของจำเลยโดยจะแบ่งที่ดินให้บ้างและได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในชื่อนายบุญนาคแต่นายบุญนาคช่วยจำเลยอยู่เกือบปีก็ไปทำอาชีพประมงที่ต่างจังหวัดจำเลยจึงได้ทำประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยมิได้ครอบครองทรัพย์พิพาทแทนโจทก์ทั้งสามจำเลยจึงมีสิทธิครอบครองและได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในชื่อจำเลย โจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องและไม่ได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปีจึงหมดสิทธิที่จะฟ้อง และแม้ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายบุญนาค โจทก์ทั้งสามไม่ได้ฟ้องขอแบ่งมรดกภายใน 1 ปี นับแต่นายบุญนาคถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 13 ไร่อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นทรัพย์มรดกของนายบุญนาค ซึ่งโจทก์ทั้งสามมีส่วนได้รับคนละ 1 ใน 5 ส่วน ให้จำเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วน หากไม่สามารถตกลงแบ่งได้ให้นำที่ดินขายทอดตลาดนำเงินแบ่งให้โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ทั้งสามกับจำเลยและนายบุญนาค ประมงค์ ผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บิดามารดาได้ตายไปก่อนนายบุญนาคไม่มีภริยาและบุตร ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2531
โจทก์ทั้งสามนำสืบว่า เมื่อนายบุญนาคตาย ที่ดินมือเปล่า1 แปลง เนื้อที่ 13 ไร่ อยู่หมู่ที่ 1 ตำบลคลองวาฬอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้รับยกให้จากมารดาเป็นทรัพย์มรดก หลังจากนายบุญนาคตายโจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกัน ต่อมาโจทก์ที่ 2และจำเลยได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาคตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ดินพิพาทได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในชื่อนายบุญนาคตั้งแต่ปี 2521จนถึงปัจจุบัน ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.4 (17 ฉบับ)โจทก์ทั้งสามได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยแบ่งมรดกให้คนละ 1 ใน 5 ส่วนตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 แต่จำเลยเพิกเฉย
จำเลยนำสืบว่า ก่อนตายนายบุญนาคพักอยู่กับจำเลยโดยมีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ที่ดินพิพาทตามฟ้องเนื้อที่13 ไร่ เป็นที่ดินว่างเปล่า จำเลยได้จับจองตั้งแต่ 20 ปีมาแล้วต่อมาในปี 2521 จำเลยเลี้ยงไก่โดยนายบุญนาคมาช่วยและได้ปลูกมะพร้าวประมาณ 150 ต้น ปลูกโรงเลี้ยงไก่ 13 หลังกับมีบ้านพักอาศัยอยู่ 2 หลัง ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ล.6 และ ล.7ที่ดินดังกล่าวได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในชื่อนายบุญนาค เนื่องจากตั้งใจว่าจะแบ่งให้นายบุญนาค ครึ่งหนึ่ง แต่นายบุญนาค ได้ช่วยจำเลยทำประโยชน์อยู่เพียง 1 ปี แล้วไปทำอาชีพประมง จำเลยจึงทำประโยชน์เพียงผู้เดียว เมื่อนายบุญนาค ถึงแก่ความตายจำเลยได้ขอเปลี่ยนหลักฐานการเสียภาษีในชื่อจำเลย แต่สารวัตรกำนันให้รอให้ครบ 4 ปี ซึ่งก็ได้มีการแจ้งเสียภาษี ตามเอกสารหมาย ล.5เมื่อโจทก์ที่ 2 ขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาคอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก จำเลยได้คัดค้าน ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 และจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน
พิเคราะห์แล้ว โจทก์ทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยมีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ 13 ไร่ ตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของมรดกของนายบุญนาคผู้ตาย ให้จำเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นที่ดินรวมกัน7 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ซึ่งโจทก์ตีราคามาในคำฟ้องเป็นเงิน78,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาททั้งสามส่วนเป็นของจำเลยขอให้ยกฟ้อง เท่ากับโต้เถียงว่าที่ดินพิพาททั้งสามส่วนดังกล่าวเป็นของจำเลย มิใช่ทรัพย์มรดกของนายบุญนาคผู้ตาย จึงไม่อาจแยกคิดทุนทรัพย์แต่ละส่วนตามที่โจทก์ทั้งสามขอมาได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ 78,000 บาทไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งสามฎีกาข้อสองว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความมรดกปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 13 ไร่ ตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญนาค ประมงค์ ผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสามแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน โจทก์ทั้งสามฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754ทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากนายบุญนาคตายได้ 2 ปี เศษ โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาค จำเลยคัดค้านและขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์ที่ 2 และจำเลยร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาค ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 554/2533 ของศาลชั้นต้นเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายบุญนาค โจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งเป็นทายาทจึงมีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท แม้จะฟังว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่นายบุญนาคตายแต่ผู้เดียวดังที่นำสืบ ก็เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกของนายบุญนาคที่ยังไม่ได้แบ่งปันกัน และต่อมาจำเลยก็ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญนาคตามคำสั่งศาลดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะทายาทก็ดี และในฐานะผู้จัดการมรดกก็ดี ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จำเลยจึงจะยกอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของนายบุญนาค เจ้ามรดก ย่อมฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share