แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้างถมดินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์แต่จำเลยหักไว้เป็นค่าปรับตามสัญญาจ้างเหมาการปรับถมพื้นที่ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าโจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยโจทก์ไม่อาจทำงานให้จำเลยตามกำหนดนัดได้เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ไม่ใช่ลาภมิควรได้ไม่อยู่ในบังคับอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา419 แม้ฝนจะตกทุกปีในฤดูฝนแต่สำหรับปลายปี2526ฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงกว่าปีก่อนเป็นเหตุให้น้ำท่วมบริเวณที่ดินที่จะถมดังนั้นแม้โจทก์จะหาแหล่งดินอื่นมาถมได้แต่เมื่อบริเวณที่จะถมน้ำท่วมและเส้นทางขนส่งลำเลียงดินน้ำท่วมโจทก์ก็ไม่อาจทำการถมดินให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้กรณีดังกล่าวถือได้ว่่าเป็นเหตุสุดวิสัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ปรับถมพื้นที่ดินราชพัสดุ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 ในราคา 8,759,000 บาท เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2526 ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 11พฤษภาคม 2527 หากงานเสร็จล่าช้ายอมให้ปรับวันละ 8,000 บาทแต่ในระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2526 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2527 มีมีร่องมรสุมพัดผ่านประเทศไทยทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมซอยสุขสวัสดิ์ 26 บริเวณที่จะปรับถมดินบริเวณแหล่งดินที่จะนำมาถมและเส้นทางขนส่งลำเลียงดิน เป็นเหตุสุดวิสัยที่มิได้เกิดประจำอันโจทก์จะคาดหมายล่วงหน้า วันที่ 2 มีนาคม 2527 โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยขอต่ออายุสัญญาออกไปอีก 120 วัน วันที่ 7 กันยายน2527 โจทก์ส่งมอบงานทีแล้วเสร็จให้แก่จำเลย วันที่ 25 กันยายน 2527จำเลยมีหนังสือไม่อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ต่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์แต่หักออกเป็นค่าปรับ888,000 บาทเพราะโจทก์ส่งมอบงานล่าช้า 111 วัน ขอบังคับให้จำเลยคืนเงินจำนวน 888,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่หักเอาเงินไว้ถึงวันฟ้อง 17 เดือนเศษซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 17 เดือน เป็นเงิน 94,350 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและคาทนายความแทนโจทก์ด้วย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า สถานที่ถมดินซอยสุขสวัสดิ์ 26 มีระดับต่ำประสบภาวะน้ำท่วมในช่วงฝนตกหนักทุกปีซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป โจทก์ย่อมคาดหมายล่วงหน้าได้ว่า ถ้ามีร่องมรสุมพัดผ่านจะต้องเกิดน้ำท่วมแน่ แต่โจทก์ยังทำสัญญากับจำเลยในฤดูฝน โดยต่อรองระยะเวลาการทำงานออกไปถึงฤดูแล้วที่ฝนหยุดตก โจทก์จึงต้องหาวิธีป้องกันแก้ไขอุปสรรคการทำงานเอง ความล่าช้าของงานอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ทั้งสิ้นมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ซึ่งมีผลทำให้โจทก์พ้นความรับผิดจากการเสียค่าปรับคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว โจทก์ไม่ได้ทวงถามก่อนฟ้องคดี จำเลยยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204, 224 โจทก์ไม่มีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 440,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนเงินจำนวน888,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินให้พระราชบัญญัติเสร็จ
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำนวน 888,000 บาทจากจำเลยเป็นลาภมิควรได้ คดีโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี เห็นว่าเงินจำนวน 888,000 บาท เป็นเงินส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้างถมดินที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ แต่จำเลยหักไว้เป็นค่าปรับตามสัญญาจ้างเหมาการปรับถมพื้นที่ ซึ่งจำเลยอ้างว่าโจทก์ส่งมอบงานล่าช้าไป 111 วัน โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัย โจทก์ไม่อาจทำงานให้จำเลยตามกำหนดนัดได้ เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ไม่ใช่ลาภมิควรได้ไม่อยู่ในบังคับอายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่าโจทก์ส่งมอบล่าช้าเพราะเหตุสุดวิสัยและทำให้โจทก์ไม่ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาหรือไม่ พยานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลน่าเชื่อกว่าพยานจำเลย ฟังไว้ว่าในช่วงเดือนกันยายน 2526 ถึงเดือนมกราคม 2527 มีน้ำท่วมบริเวณที่จะถมดินและปรับพื้นที่ตามสัญญา เห็นว่า แม้ฝนจะตกทุกปีในฤดูฝน แต่สำหรับปลายปี 2526 ฝนตกหนักและน้ำท่วมสูงกว่าปีก่อนเป็นเหตุให้น้ำท่วมบริเวณที่ดินที่จะถมอันเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นแม้โจทก์จะหาแหล่งดินอื่นมาถมได้ แต่เมื่อบริเวณทีจะถมน้ำท่วม และเส้นทางถนน ธนบุรี – ปากท่อ น้ำท่วม ก็ไม่อาจทำการถมดินให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ จำเลยอ้างเหตุอีกประการหนึ่งว่า งานถมดินเป็นงานงวดที่ 4 ซึ่งล่วงเลยหน้าฝนไปแล้ว เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเหมาการปรับถมพื้นที่เอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ได้กำหนดงานไว้เป็นงวด ๆเฉพาะงานงวดที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการวางท่อน้ำ ค.ส.ล. ถากถางพื้นที่กำจัดวัชพืช ปักผังและถมดินทางเข้า ซึ่งเป็นงานที่จะต้องทำก่อนงานงวดที่ 4 ดังนั้นโจทก์จะต้องทำงานงวดที่ 1 ถึงที่ 3 แล้วจะทำงานงวดที่ 4 เพราะเป็นงานต่อเนื่องกัน เมื่อโจทก์ไม่สามารถทำงานงวดที่ถึงที่ 3 ได้ เนื่องจากต้องร่นเวลาออกไปงานงวดที่ 4 ซึ่งต้องทำต่อเนื่องจากงานงวดที่ 3 จะต้องร่นออกไปด้วย
พิพากษายืน