แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ธนาคารทำหนังสือรับรองพ่อค้าซึ่งเข้าทำสัญญาส่งของต่อบุคคลที่สามว่า ถ้าพ่อค้านั้นผิดสัญญาประการใดธนาคารจะรับผิดชอบชดใช้ให้บุคคลที่สามนั้นถือว่าธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันฉะนั้น เมื่อธนาคารได้ชำระเงินชดใช้แทนไปแล้ว ย่อมมีสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอาต่อพ่อค้าได้ภายในอายุความตามมาตรา 164 กรณีไม่เข้าลักษณะอายุความตามมาตรา 165(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 เซ็นสัญญากับ อ.จ.ส.รับเป็นผู้สั่งน้ำตาลทรายจากประเทศไต้หวันในวงเงินหนึ่งล้านบาท จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับรองว่าถ้าโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยที่ 1 จะชดใช้ให้และจำเลยที่ 2, 3 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดนัดส่งน้ำตาลต่ออ.จ.ส. เรียกค่าปรับจากโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน โจทก์ต้องชำระไปเป็นเงิน 200,000 บาท และโจทก์ได้เสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีอาญาอีก 40,000 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้
จำเลยต่อสู้เป็นใจความสำคัญว่า จำเลยไม่ต้องชดใช้เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญากับ อ.จ.ส.โดยที่มีเหตุสุดวิสัย และเป็นความผิดของโจทก์เองที่จ่ายเงินไปทั้ง ๆ ที่เกินกำหนดเวลาที่โจทก์จะต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 200,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จำเลยอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยนั้นฟังไม่ขึ้นส่วนที่ว่าโจทก์ชำระเงินให้ อ.จ.ส. เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่โจทก์ทำหนังสือรับรองให้ไว้แก่อ.จ.ส. นั้น เห็นว่า อ.จ.ส. เรียกร้องให้โจทก์ชำระค่าปรับก่อนวันครบกำหนดสัญญา อ.จ.ส. มีสิทธิฟ้องร้องคดีได้แล้วภายในกำหนดอายุความ การที่โจทก์ชำระเงินค่าปรับไปในภายหลังจะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ไม่ได้ ส่วนเรื่องอายุความนั้นเห็นว่า คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ได้ชำระหนี้ให้แทนลูกหนี้ต้องใช้อายุความตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ไม่เกี่ยวกับอายุความตามมาตรา 165(1) ดังจำเลยอ้างศาลฎีกาพิพากษายืน