คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศร่วมรับผิด โดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 824 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา 5 และมาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ แม้ใบตราส่งจะระบุว่าต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกง แต่กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ส่งของเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลจึงต้องเป็น พ.ร.บ.การรับขนของทางทะลฯ ตามมาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 469,326.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงวันฟ้อง ซึ่งโจทก์ขอคิดเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 8,780 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 469,326.38 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระเงิน 469,326.38 บาท ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้อง 8,780 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 469,326.38 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า บริษัท เอส ที ยูไนเต็ด เทรดเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ขายในประเทศไทยขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้แก่ผู้ซื้อในประเทศสเปน ผู้ขายส่งสินค้าพิพาทจากประเทศไทยให้แก่ผู้ซื้อที่เมืองเทเนรีฟประเทศสเปน และติดต่อเกี่ยวกับการขนส่งกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในประเทศไทยของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ติดต่อกับผู้ขาย ติดต่อกับสายการเดินเรือเมอร์สค สาขากรุงเทพมหานคร และเป็นผู้ลงนามออกใบตราส่งแก่ผู้ขาย ซึ่งตามใบตราส่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งโดยระบุไว้ว่าลงนามแทนผู้ขนส่ง กับจำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้รับเงินต่างๆ แทน สินค้าพิพาทถูกบรรจุในตู้สินค้าและมีเงื่อนไขในการขนส่งแบบ CFS/CFS เมื่อสินค้าไปถึงปลายทางปรากฏว่ามีกล่องสินค้าฉีกขาดและสินค้าภายในกล่องสูญหายไปบางส่วน ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยและใบตราส่งได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยังผู้ขนส่ง แต่ผู้ขนส่งไม่ยอมชดใช้ให้ ผู้ซื้อจึงเรียกร้องมายังโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย โจทก์ชำระค่าเสียหายไปเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2545
ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่เห็นสมควรวินิจฉัยเป็นข้อแรกมีว่าโจทก์มีอำนาจเลือกฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยไม่ฟ้องที่ศาลเมืองฮ่องกงตามที่ใบตราส่งระบุไว้ให้เป็นศาลระงับข้อพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 5 และมาตรา 7 (5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนส่งดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศร่วมรับผิด โดยผลของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามบทมาตราดังกล่าวได้ด้วย หาจำต้องนำไปฟ้องยังศาลแห่งเมืองฮ่องกงแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากมูลคดีพิพาทคือสัญญารับขนของทางทะเลเกิดในราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่ใช้บังคับคือกฎหมายไทย พยานหลักฐานต่างๆ ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจย่อมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์มาด้วยว่า ตามใบตราส่งระบุว่าต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกง จึงต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกงกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกจากราชอาณาจักร และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือ บริษัท เอส ที ยูไนเต็ด เทรดเดอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ส่งของเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะลจึงต้องเป็นพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศเป็นผู้ขนส่งครั้งพิพาทหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับขนครั้งพิพาทแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีใบตราส่งเป็นพยานหลักฐานว่า ผู้ขนส่งที่ออกหลักฐานแห่งสัญญาขนส่งดังกล่าวคือ บริษัท ยูโร บ๊อกซ์ไลน์ จำกัด จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่เมืองฮ่องกง มีผู้ลงนามแทนผู้ขนส่งดังกล่าวคือจำเลยที่ 1 โดยผู้ขนส่งรับขนสินค้าจากแหลมฉบังประเทศไทย ไปยังเมืองเทเนรีฟ ประเทศสเปน ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบยอมรับว่า จำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนติดต่อกับผู้ส่งของมอบหมายให้ติดต่อกับสายการเดินเรือเมอร์สค สาขากรุงเทพมหานคร และมอบให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงนามออกใบตราส่งแก่ผู้ขายและตามใบตราส่งดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้ขนส่งโดยระบุไว้ว่า ลงนามแทนผู้ขนส่ง นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้รับเงินต่างๆ แทนจำเลยที่ 2 ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวนั้น เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 รับขนส่งสินค้าครั้งพิพาทโดยมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อและตกลงรายละเอียดต่างๆ อันเป็นเงื่อนไขของสัญญารับขนทางทะเลแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าพิพาทสูญหายและเสียหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์มีใบตราส่งใบกำกับสินค้า บันทึกการตรวจสภาพสินค้าของตัวแทนผู้ออกสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ และรายงานการสำรวจสินค้าเมื่อส่งไปถึงผู้ซื้อเป็นพยานหลักฐาน โดยมีนางสาววาสนา แซ่อึ้ง มาเบิกความรับรองความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารดังกล่าว ตามใบตราส่งนั้นระบุไว้ว่าสินค้าเสื้อผ้า จำนวนกล่อง 33 กล่อง 34 กล่อง 16 กล่อง 37 กล่อง และ 22 กล่อง ตามรายละเอียดในใบกำกับสินค้าเลขที่ ST/1215/2001 เลขที่ ST/1344/2001 เลขที่ ST/1271/2001 เลขที่ ST/1269/2001 และเลขที่ ST/1302/2001 สินค้าถูกขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย ไปยังเมืองเทเนรีฟ ประเทศสเปน ในเงื่อนไขการขนส่งแบบ CFS/CFS ซึ่งโจทก์นำสืบว่า หมายถึงผู้ขนส่งมีหน้าที่บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าที่ท่าต้นทางและปลายทางผู้ขนส่งก็มีหน้าที่เปิดตู้สินค้า เพื่อนำสินค้าออกจากตู้สินค้าแล้วส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่ง สินค้าถูกบรรจุอยู่ในตู้สินค้า เลขที่ XTRU 2063556 เลขที่ CMBU 2301730 เลขที่ GLDUO 165315 #S.ML – TH 0682667 เลขที่ GLDUO 165315 #S.ML – TH 0682667 และเลขที่ MAEU 7934613 ตามลำดับ และมีข้อความระบุไว้ด้วยว่า ผู้ขนส่งรับสินค้าไว้ในสภาพเรียบร้อยโดยไม่มีการระบุข้อสงวนใดไว้ว่าสินค้าหรือสิ่งที่ใช้บรรจุสินค้าอยู่ในสภาพไม่เรียบร้อยเนื้อความตามใบตราส่งดังกล่าวจึงสันนิษฐานได้ว่า ขณะที่ผู้ขนส่งรับสินค้าไว้จากผู้ส่งของนั้นสินค้าและกล่องที่ใช้บรรจุสินค้ามีสภาพเรียบร้อย ดังนั้น เมื่อปรากฏตามบันทึกการตรวจสอบสภาพสินค้าของตัวแทนผู้ออกสินค้าให้แก่ผู้ซื้อว่า ขณะที่มีการรับสินค้าจากคลังสินค้าของตัวแทนผู้ขนส่งนั้น ก็พบแล้วว่ากล่องบรรจุสินค้าฉีกขาดและมีสินค้าสูญหายจำนวนมาก กับตามรายงานการสำรวจความเสียหายซึ่งเป็นการตรวจสอบตามรูปแบบมาตรฐานการตรวจสอบของสถาบันลอยด์ (LLOYD”S) ในขณะที่สินค้าถูกส่งถึงสถานประกอบกิจการของผู้ซื้อที่ปลายทางซึ่งมีรายละเอียดในเรื่องต่างๆ ที่ควรจะมีไว้อย่างครบถ้วนและสมเหตุผลพร้อมทั้งมีภาพถ่ายสภาพสินค้าแสดงถึงความเสียหายของสินค้าไว้ชัดเจน ก็พบว่าเมื่อสินค้าถูกขนส่งมาถึงท่าเรือ ตัวแทนของผู้ขนส่งได้ขนสินค้าไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าของตัวแทนผู้ขนส่งอยู่หลายวัน ก่อนที่ตัวแทนของผู้ซื้อจะนำรถบรรทุกไปรับสินค้าเพื่อนำไปมอบให้แก่ผู้ซื้อที่สถานประกอบกิจการของผู้ซื้อ ในระหว่างที่สินค้าอยู่ที่คลังสินค้าของตัวแทนผู้ขนส่งนั้นตัวแทนของผู้ขนส่งได้เปิดตู้สินค้าอยู่แล้ว เมื่อสินค้ามาถึงสถานประกอบการของผู้ซื้อ ผู้สำรวจก็ได้สำรวจสภาพสินค้าในวันรุ่งขึ้นเพราะสินค้าถูกขนมาถึงในตอนดึก ผลการสำรวจพบว่าในครั้งที่ 1 กล่องบรรจุสินค้าฉีกขาดและสินค้าสูญหายไปหลายรายการ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือใดมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว คงมีเพียงกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 พนักงานบริษัทตัวแทนเรือ และผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำโต้แย้งลอยๆ แต่เพียงว่า ผู้ส่งของเป็นผู้บรรจุสินค้าลงกล่องกระดาษเองจึงไม่อาจทราบสภาพและจำนวนสินค้าในกล่อง แต่ก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานใดนอกจากนี้มาหักล้างว่าการขนส่งครั้งพิพาทไม่ได้มีรูปแบบการขนส่ง แบบ CFS/CFS ซึ่งผู้ขนส่งมีหน้าที่บรรจุสินค้าที่ผู้ส่งของได้บรรจุไว้ในกล่องกระดาษในสภาพเรียบร้อยแล้วเข้าตู้สินค้าที่ท่าต้นทางและที่ปลายทางผู้ขนส่งก็มีหน้าที่เปิดตู้สินค้าและนำสินค้าออกจากตู้สินค้า พยานหลักฐานของโจทก์จึงน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง เชื่อได้ว่า สินค้าพิพาทได้สูญหายและเสียหายระหว่างอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่ง ดังที่ปรากฏในรายงานการสำรวจความเสียหายอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายได้เพียงใด ปรากฏตามใบส่งว่า สินค้าที่ขนส่งมีจำนวน 33 กล่อง 34 กล่อง 16 กล่อง 37 กล่อง และ 22 กล่องตามลำดับ แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่าในแต่ละกล่องมีสินค้าอยู่ภายในกี่โหล ดังนั้น หน่วยการขนส่งในครั้งพิพาทจึงถือได้ว่า 1 กล่องเป็น 1 หน่วย ตามที่พระราชบัญญัติการรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 59 (1) บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีการรวมของหลายหน่วยการขนส่งเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกัน… ถ้าระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ให้ถือว่าของตามใบตราส่งนั้นมีจำนวนหน่วยการขนส่งตามที่ระบุไว้นั้น แต่ถ้ามิได้ระบุให้ถือว่าของทั้งหมดที่รวมเป็นหน่วยการขนส่งเดียวกันนั้นเป็นหนึ่งหน่วยการขนส่ง” เมื่อคำนวณข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ประกอบกับรายงานการสำรวจความเสียหายของสินค้าและภาพถ่ายการขนส่งทั้งห้าครั้ง ซึ่งปรากฏว่า การขนส่งในแต่ละครั้งมีกล่องสินค้าฉีกขาด และสินค้าแต่ละกล่องสูญหายไป โดยราคาเฉลี่ยต่อโหลของสินค้าที่ขนส่งทั้งห้าครั้งและอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบใบกำกับสินค้า ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นปรากฏว่ารวมค่าเสียหายในการขนส่งทั้งห้าครั้งแล้ว จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เป็นเงิน 272,181.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน เท่าที่โจทก์ขอ และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อสุดท้ายมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าเกิน 1 ปี นับแต่มีการส่งมอบสินค้าหรือไม่ เห็นว่า การขนส่งสินค้าครั้งพิพาทเป็นการขนส่งภายใต้เงื่อนไขให้ผู้ส่งของนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ขนส่ง จากนั้นผู้ขนส่งเป็นผู้บรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าเอง เมื่อถึงปลายทางผู้ขนส่งเป็นผู้เปิดตู้สินค้าเอง แล้วนำสินค้าของผู้ส่งของแต่ละครั้งไปเก็บไว้ในคลังสินค้ารอผู้รับตราส่งมารับสินค้า ไม่ใช่การขนส่งที่ผู้ส่งของนำตู้สินค้าและปิดผนึกตู้เองแล้วนำมาให้แก่ผู้ขนส่งที่ลานวางตู้สินค้าและที่ปลายทางผู้รับตราส่งมารับตู้สินค้าที่ลานวางตู้สินค้านำไปเปิดยังสถานที่ของผู้รับตราส่งเอง ดังนั้น เมื่อโจทก์มีเอกสารหลักฐานบันทึกการตรวจสภาพสินค้าของตัวแทนผู้ออกสินค้าให้แก่ผู้ซื้อมาแสดงว่าได้มีการรับสินค้าที่คลังสินค้าของตัวแทนผู้ขนส่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 วันที่ 30 มกราคม 2545 วันที่ 14 ธันวาคม 2544 วันที่ 14 ธันวาคม 2544 และวันที่ 19 ธันวาคม 2544 ตามลำดับวันที่ที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นวันที่มีการส่งมอบสินค้าที่แท้จริงให้แก่ผู้รับตราส่ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 กรณีไม่ใช่เป็นการส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้ให้แก่ผู้รับตราส่งที่ลานวางตู้สินค้าที่ท่าเรือเป็นวันส่งมอบ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 จึงเป็นการฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่มีการส่งมอบสินค้าแต่ละครั้ง เป็นการฟ้องคดีภายในอายุความตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการขนของทางทะเล พ.ศ.2534 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 272,181.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 เดือน และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share