แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า1ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา655วรรคหนึ่งและไม่อยู่ในบังคับข้อห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามมาตรา224วรรคสองโจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า1ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึง1ปีแม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,131,536.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 77633 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน611,988.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มกราคม2531 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำนองโฉนดเลขที่ 77633 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ถ้าได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขาดทอดตลาดชำระหนี้จนครบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 611,988.12 บาท นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2529 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2532นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ค้างชำระครบ 1 ปีเข้าทบเป็นต้นเงินได้รวม 6 ครั้ง ตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้เห็นว่า หนังสือสัญญากู้เงินมีข้อสำคัญข้อ 3 ระบุว่า”ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระเงินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี (ซึ่งต่อไปได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 14, 15 และ 19 ต่อปี ตามลำดับ)โดยยอมชำระนับแต่วันได้รับเงินกู้ไปทุกวันสิ้นเดือน และชำระดอกเบี้ยพร้อมทั้งผ่อนเงินต้นตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเวลาหนึ่งปีผู้กู้ยินยอมให้ทบจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเข้าเป็นต้นเงินในวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีนั้น และผู้กู้ต้องเสียดอกเบี้ยในยอดเงินต้นดังกล่าวในตอนหลังนี้ ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีตลอดไปในอัตราเดียวกันจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นจึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมได้ตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า1 ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคหนึ่งและไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคสอง ดังนั้นตราบใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ยังคงค้างชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึง 1 ปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระหนี้คืนและลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดแล้วตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2530ก็ตามโจทก์จึงมีสิทธินำดอกเบี้ยซึ่งค้างชำระถึง 1 ปีแล้วทบเข้ากับต้นเงินในวันที่ 25 พฤษภาคม 2524 วันที่ 25 ธันวาคม 2528วันที่ 25 ธันวาคม 2529 วันที่ 29 ธันวาคม 2530 วันที่29 ธันวาคม 2531 และวันที่ 29 ธันวาคม 2532 รวม 6 ครั้งได้ตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน1,131,536.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจากต้นเงินจำนวน 882,141.22 บาท นับถัดจากวันฟ้อง(วันที่ 26 กรกฎาคม 2533) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์