คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419-4420/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และมาตรา 40

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4626/2552 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และเรียกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4626/2552 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 4 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองสำนวนนี้
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 295, 297, 364, 365, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณานายประเสริฐ ผู้เสียหายที่ 1 นายสยามหรือปรเมศ ผู้เสียหายที่ 2 และนายศุภราช ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตยกเว้นข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 491,447 บาท 42,727 บาท และ 52,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การในคดีส่วนแพ่งว่าค่าเสียหายที่โจทก์ร่วมทั้งสามเรียกร้องมาสูงเกินความจริง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 364, 365 (1) (2) (3), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 364, 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุกกับฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 1 ให้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 ให้รับอันตรายแก่กาย จำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 3 ให้รับอันตรายสาหัส จำคุกคนละ 3 ปี ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 8 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 131,947 บาท 37,527 บาท และ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 1 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 (8), 364, 365 (1) (2) (3) (ที่ถูก มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานร่วมกันบุกรุกกับฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 ให้รับอันตรายแก่กายเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ฐานร่วมกันบุกรุกกับร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 3 ให้รับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 3 ให้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา 90 รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 111,947 บาท 37,527 บาท และ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 12 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 (ที่ถูก กับยกฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานมีอาวุธปืนด้วย) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแล้วต้องฟังว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรอการพิพากษาพร้อมกับคดีในส่วนแพ่งหลังจากสืบพยานเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาเป็นอย่างอื่นนั้น เห็นว่า แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ในแต่ละฐานความผิดไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องพิพากษาคดีไปตามคำรับสารภาพของจำเลยโดยไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสมอไปไม่ เพราะในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเป็นต้องสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามต่อไปเพื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบการกำหนดค่าสินไหมทดแทน ซึ่งพยานหลักฐานที่นำสืบคดีในส่วนแพ่งย่อมเกี่ยวพันกับคดีในส่วนอาญา ดังนั้นหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิด ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ และต้องพิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อมาตามฎีกาของโจทก์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เดินมาที่หน้าบ้านตะโกนว่าลูกน้องของโจทก์ร่วมที่ 1 ไปทำร้ายบุตรชายและบุตรเขยของจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 1 ตะโกนตอบว่า บุตรชายและบุตรเขยของจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายขึ้นไปรุมทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 บนบ้านให้ขึ้นไปดู ขณะจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านมีวัยรุ่นประมาณ 10 คน กรูตามเข้าไปทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 2 พยายามห้าม แต่ไม่มีใครฟัง สักครู่หนึ่งจำเลยที่ 2 พากลุ่มวัยรุ่นออกไป ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จำเลยที่ 2 เพียงแต่ไปสอบถามโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงเหตุที่บุตรชายและบุตรเขยของจำเลยที่ 2 ถูกทำร้าย แม้จะมีกลุ่มวัยรุ่นตามมาและเข้าไปในบ้านทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ได้พยายามห้ามแล้ว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดดังกล่าวและไม่ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสามจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ร่วมทั้งสามตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สำหรับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เกินคนละ 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีส่วนแพ่งมาไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังกล่าว กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมสามารถยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 40
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวกับโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share