คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางมาที่กระท่อมจำเลยพร้อมเด็กชาย ศ. ทั้งสองครั้ง จำเลยมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 มาที่กระท่อมที่เกิดเหตุและมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมไปที่ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา เด็กหญิง อ. ผู้เสียหายที่ 1 โดยนางสาว ล. ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และนาย บ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ศาลชั้นต้นอนุญาต ให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ และโจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,800,000 บาท ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม), 317 วรรคสาม (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม กับฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร แม้เด็กนั้นจะยินยอมก็ตาม เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี รวมจำคุก 18 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 12 ปี กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 เป็นค่าเสียหายต่อร่างกาย 50,000 บาท ค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 100,000 บาท และค่าเสียหายต่อชื่อเสียง 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องขอ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ร่วมที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ชนะคดี ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 และจำเลยให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เด็กหญิง อ. โจทก์ร่วมที่ 1 ขณะเกิดเหตุมีอายุ 14 ปีเศษ และอยู่ในความดูแลของนาย บ. โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นตา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีโจทก์ร่วมที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 อยู่กับเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นหลานจำเลย จำเลยโทรศัพท์มาหาเด็กชาย ศ. ให้ซื้อขนมไปให้จำเลยที่กระท่อมที่เกิดเหตุไม่มีเลขที่ เด็กชาย ศ. ชวนโจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมด้วย เมื่อไปถึงเด็กชาย ศ. เอาขนมเข้าไปให้จำเลย โจทก์ร่วมที่ 1 กับเด็กชาย ศ. จะกลับบ้าน จำเลยให้เด็กชาย ศ. กลับบ้านเพียงคนเดียว แต่บอกโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าห้ามกลับ โจทก์ร่วมที่ 1 กลัวจึงไม่กล้ากลับบ้าน แล้วจำเลยดึงตัวโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปในกระท่อม โจทก์ร่วมที่ 1 พยายามขัดขืน จำเลยให้โจทก์ร่วมที่ 1 นั่งลงแล้วถอดเสื้อผ้าและกางเกงชั้นในของโจทก์ร่วมที่ 1 ออก จากนั้นจำเลยจูบปาก จับหน้าอกและนำอวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 1 ขยับเข้าออกประมาณ 10 ถึง 20 นาที โจทก์ร่วมที่ 1 เห็นมีน้ำสีขาวขุ่นออกจากอวัยวะเพศของจำเลย จากนั้นจำเลยให้โจทก์ร่วมที่ 1 ใส่เสื้อผ้า และพูดกับโจทก์ร่วมที่ 1 ว่า ไม่ให้โจทก์ร่วมที่ 1 เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง และจำเลยให้เงินโจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 500 บาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายน 2558 ช่วงบ่าย ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งเล่นกับเด็กชาย ศ. จำเลยโทรศัพท์ให้เด็กชาย ศ. ซื้อน้ำแข็งและขนมไปให้จำเลยที่กระท่อมเกิดเหตุ เด็กชาย ศ. ชวนโจทก์ที่ 1 ไปด้วย โจทก์ร่วมที่ 1 ปฏิเสธ แต่เด็กชาย ศ. บอกไม่มีเพื่อน โจทก์ร่วมที่ 1 จึงซื้อน้ำแข็งและขนมแล้วเดินทางไปที่กระท่อมเกิดเหตุกับเด็กชาย ศ. พอโจทก์ร่วมที่ 1 กับเด็กชาย ศ. ไปถึงกระท่อมจำเลยให้เด็กชาย ศ. ไปซื้อบุหรี่ เมื่อเด็กชาย ศ. ออกไปแล้ว จำเลยดึงโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปในกระท่อมแล้วให้นั่งลง จากนั้นก็ถอดเสื้อผ้าและกางเกงในโจทก์ร่วมที่ 1 ออกแล้วนอนทับตัว จูบปาก ลูบหน้าอกโจทก์ร่วมที่ 1 และใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่อวัยวะเพศโจทก์ร่วมที่ 1 ขยับเข้าออกมาประมาณ 10 ถึง 20 นาที โดยไม่สวมถุงยางอนามัย สักพักจำเลยลุกขึ้นจากตัวโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 เห็นน้ำสีขาวขุ่นออกจากอวัยวะเพศของจำเลย จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมที่ 1 อีกว่า ไม่ให้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ใครฟังและมอบเงินจำนวน 500 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 เมษายน 2558 ประจำเดือนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่มาตามกำหนด โจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้เด็กชาย ศ. ไปบอกจำเลยให้ซื้อเครื่องตรวจครรภ์มาให้ ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณเที่ยงคืน ขณะโจทก์ร่วมที่ 1 ออกไปจับจิ้งหรีดที่กลางทุ่งนา โจทก์ร่วมที่ 2 พบเครื่องตรวจครรภ์ใต้ที่นอนโจทก์ร่วมที่ 1 จึงสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โจทก์ร่วมที่ 1 จึงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้โจทก์ร่วมที่ 2 ฟัง เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ทราบเรื่อง จึงเรียกจำเลยมาเจรจา จำเลยรับว่าได้ล่วงเกินโจทก์ร่วมที่ 1 และยอมชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 2 พาโจทก์ร่วมที่ 1 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย และในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยมีนาย ส. ผู้ใหญ่บ้านร่วมฟังการสอบสวน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 จริง เมื่อขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 1 อายุไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่ภริยาจำเลย ดังนั้นไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 จะยินยอมหรือไม่ก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยมีเด็กชาย ศ. เป็นพยานสำคัญนั้น เห็นว่า เด็กชาย ศ. เบิกความว่า เคยไปกระท่อมที่เกิดเหตุกับโจทก์ร่วมที่ 1 หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายในปี 2558 จำวันที่และเดือนไม่ได้ โดยเด็กชาย ศ. ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ถูกจำเลยกระทำชำเรา ซึ่งในขณะโจทก์ร่วมที่ 1 ถูกจำเลยกระทำชำเรา โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมที่เกิดเหตุกับจำเลยเพียงสองคน เด็กชาย ศ. ไม่ได้อยู่ในกระท่อมด้วยและไม่เห็นเหตุการณ์ เด็กชาย ศ. จึงมิใช่พยานสำคัญดังที่จำเลยฎีกา พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางไปพบจำเลยเอง จำเลยมิได้พรากผู้เยาว์และมิได้พาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่ เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจการปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ส่วนข้อหาพาผู้เยาว์อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร เห็นว่า โจทก์ร่วมที่ 1 เดินทางมาที่กระท่อมจำเลยพร้อมเด็กชาย ศ. ทั้งสองครั้ง จำเลยมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 มาที่กระท่อมที่เกิดเหตุและมิได้พาโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมไปที่ใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาผู้เยาว์อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่ออนาจาร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ส่วนเรื่องค่าเสียหายจำเลยฎีกาว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาท ให้โจทก์ร่วมทั้งสองแล้ว จึงมิต้องรับผิดในดอกเบี้ยอีกและจำเลยมิได้พรากผู้เยาว์จึงมิต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ร่วมที่ 2 นั้น เห็นว่า ค่าเสียหายที่จำเลยชำระแล้วกับค่าเสียหายตามคำพิพากษาเป็นคนละส่วนกัน เมื่อหนี้ที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน จำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวด้วย ส่วนค่าเสียหายของโจทก์ร่วมที่ 2 ศาลล่างทั้งสองยกคำขอส่วนนี้ จำเลยจึงมิต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ร่วมที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเรื่องค่าเสียหายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) ให้ยกฟ้องจำเลยข้อหาพาผู้เยาว์อายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง (เดิม) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share