คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ยังค้างชำระอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเท่าใด ลักษณะแห่งมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีนั้น กรณีดังกล่าวหาทำให้หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนอีกแต่อย่างใดไม่
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย โดยการที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาฐานะของเจ้าหนี้ในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย แม้ว่าโจทก์จะเคยมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในทางจำนอง แต่ก็ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้ว ส่วนทรัพย์สินที่เหลือได้มีการไถ่ถอนไปแล้ว ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายนั้น โจทก์มิได้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อีก จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้ระบุให้เห็นชัดว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชิ้นใด กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดา โจทก์จึงไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แต่อย่างใด
การที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น มิใช่เป็นการบังคับในคดีเดิม กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด และมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 นั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน และค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2538 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมสามารถบังคับคดีได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 10 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งเจ็ดเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 7 ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายคดีอื่น ศาลล้มละลายกลางจึงให้จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 7 ออกจากสารบบความตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 15
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งเจ็ดเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดเชียงใหม่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2075/2538 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้เป็นเงิน 60,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 43,275,237.37 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และจำเลยทั้งเจ็ดยอมชำระค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนที่ศาลไม่สั่งคืนและค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2538 หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยให้บังคับทรัพย์จำนองตามระบุไว้ในคำฟ้องออกขายทอดตลาด หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วนตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความ หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระหนี้ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 9527 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด และเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้เป็นเงิน 25,300,000 บาท ตามบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินครั้งที่ 1 คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นต้นเงิน 30,208,159.95 บาท และดอกเบี้ย 44,033,304.76 บาท รวมเป็นเงิน 74,241,464.71 บาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ข้อแรกมีว่า หนี้ตามฟ้องนั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนหรือไม่ เห็นว่า หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ยังค้างชำระอยู่ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย มูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงสามารถคำนวณได้ว่าเมื่อถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเท่าใด ลักษณะแห่งมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลาย จึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อ้างว่าได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวหาทำให้หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้วกลับเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนอีกแต่อย่างใดไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย โดยการที่จะพิจารณาว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวนั้นมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จะต้องพิจารณาฐานะของเจ้าหนี้ในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย คดีนี้แม้ว่าโจทก์จะเคยมีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในทางจำนอง แต่ก็ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้ว ส่วนทรัพย์สินที่เหลือก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายศิริวุฒิว่า ได้มีการไถ่ถอนไปแล้ว โดยนายศิริวุฒิก็เบิกความยืนยันว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีล้มละลายนั้น โจทก์มิได้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อีก ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่มิได้ระบุให้เห็นชัดว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชิ้นใด กรณีจึงต้องฟังว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดา โจทก์จึงไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) แต่อย่างใด เมื่อคำฟ้องของโจทก์ได้กล่าวครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 แล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายนั้น มิใช่เป็นการบังคับในคดีเดิม กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 แต่กรณีดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด และมาตรา 193/12 บัญญัติว่า อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ในคดีแพ่งของศาลจังหวัดเชียงใหม่ คดีหมายเลขแดงที่ 2075/2538 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538 นั้น ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่ศาลไม่สั่งคืน และค่าทนายความจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2538 เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมสามารถบังคับคดีได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 10 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เป็นคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share