คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3828/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 บัญญัติว่า “ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่” ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงิน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคาร ท. สาขาบิ๊กซีบุรีรัมย์ เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของ ฐ. ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ถึง 2 วัน แต่ที่ ฐ. ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวซึ่งโอนมาจากต่างประเทศก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของ ฐ. แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 ฐ. ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมชำระเงินแก่จำเลยทั้งสอง 600,000 บาท ผ่อนชำระ 2 งวด งวดละ 300,000 บาท งวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 งวดที่ 2 ภายในวันที่ 3 ธันวาคม 2557 โดยให้โจทก์ไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสอง หากโจทก์ผิดนัดชำระงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด โจทก์ยอมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 29338 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 และโจทก์ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินภายใน 1 เดือน มิฉะนั้นให้จำเลยที่ 2 บังคับคดีได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอว่า โจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ออกหมายบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่โจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองขอ
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายบังคับคดี และมีคำสั่งงดการบังคับคดีระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงินจำนวน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้นายฐิติพงษ์บุตรโจทก์ซึ่งเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ที่ธนาคารดังกล่าวถอนเงินไปชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสอง แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของนายฐิติพงษ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นายฐิติพงษ์ถอนเงินจำนวน 300,000 บาท ออกจากบัญชีและได้นำไปที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ทนายจำเลยทั้งสองไม่ยอมรับอ้างว่าชำระเกินกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ นายฐิติพงษ์จึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปวางศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสอง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนหมายบังคับคดีเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่อาจออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ได้นั้น เป็นการชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทราบเป็นอย่างดีว่าจะต้องชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 โจทก์จึงสามารถโอนเงินให้แก่จำเลยทั้งสองโดยตรงหรือโอนเงินเข้าบัญชีของนายฐิติพงษ์บุตรโจทก์ได้ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์จะยกเรื่องความล่าช้าของระบบธนาคารมาเป็นเหตุอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หาได้ไม่ อีกทั้งกรณีเป็นเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายเรื่องผิดนัดชำระหนี้มาใช้บังคับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงให้เพิกถอนหมายบังคับคดี เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความแม้กระทำในศาลก็ถือเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง การจะพิจารณาว่าคู่สัญญาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพสอง ว่าด้วยหนี้ เช่นกัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 บัญญัติว่า “ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลง เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้ยังหาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่” คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2557 โจทก์โอนเงินจำนวน 309,190 บาท จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ธนาคารนำเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของนายฐิติพงษ์บุตรโจทก์ แต่ระบบของธนาคารได้ดำเนินการโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีของนายฐิติพงษ์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์ได้โอนเงินมายังบัญชีเงินฝากของนายฐิติพงษ์ก่อนถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความถึง 2 วัน แต่ที่นายฐิติพงษ์ไม่สามารถถอนเงินจากบัญชีได้เพราะระบบของธนาคารต้องทำการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าวก่อน ต่อมาเมื่อระบบของธนาคารโอนเงินเข้าบัญชีของนายฐิติพงษ์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นายฐิติพงษ์ก็ได้ไปถอนเงินจำนวน 300,000 บาท จากบัญชีของตนแล้วนำไปชำระที่สำนักงานของทนายจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสถานที่ชำระหนี้ที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวพออนุโลมได้ว่า เป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 205 จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นจำเลยทั้งสองจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่โจทก์หาได้ไม่ เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อปลีกย่อยอื่น ๆ อีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share