แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสอง ได้ระบุถึงพยานเอกสารที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพยานต่อศาล แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานและพยายามรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่จะอ้างเป็นพยานต่อศาลเท่าที่ทำได้เพื่อให้โจทก์ได้มีโอกาสตรวจสอบในเบื้องต้นเท่าที่มี จึงพอแปลได้ว่าเป็นการอ้างเหตุขัดข้องในการส่งเอกสารให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบ เมื่อพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เอกสารทั้งหมดดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดีที่จะนำมาพิสูจน์ชี้ขาดผลแห่งคดีได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) แม้เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านการนำสืบว่าไม่มีต้นฉบับถือได้ว่าโจทก์ยอมรับสำเนาเอกสารถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (4)
นอกจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ราคาสินค้าตามฟ้องแล้วยังมีหนี้ราคาสินค้าเก่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์อีกเป็นกรณีมีมูลหนี้ที่ค้างชำระหลายราย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น…ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่าๆ กัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน…” จะเห็นได้ว่า กฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุไว้ก็ต้องชำระหนี้ที่ระบุไว้ตามความประสงค์ของลูกหนี้ หากไม่ระบุไว้ ถ้าหนี้หลายรายถึงกำหนดชำระแล้ว ก็ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน สำหรับคดีนี้ มีเช็คจำนวน 31 ฉบับ ที่มีจำนวนเงินตามเช็คเท่ากับราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินและใบส่งของ ซึ่งตรงกับสินค้าที่ซื้อตามคำฟ้อง แม้การออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวจะไม่ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ราคาสินค้าที่ซื้อจากโจทก์ตามฟ้อง แต่การออกเช็คมีจำนวนเงินตรงกับจำนวนเงินในใบเสร็จและใบส่งของที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 31 ฉบับดังกล่าวเพื่อชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ชำระหนี้รายใดตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 328 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องทั้งสามสิบเอ็ดรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,504,100.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 5,399,483.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังตามที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้เถียงกันว่า เมื่อประมาณปี 2536 จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “เทรน” พร้อมอุปกรณ์และอะไหล่ให้แก่โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ในการทำหน้าที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาตั้งผู้จำหน่าย และหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาปี 2549 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค้างชำระราคาสินค้าโจทก์เป็นจำนวนมาก มีการตกลงเจรจาเกี่ยวกับหนี้ที่ค้างชำระ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 11,100,635.34 บาท ตามรายการซื้อและรายการชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 1 สามารถสั่งซื้อสินค้าไปจากโจทก์เพื่อจำหน่ายต่อไปได้แต่ในการชำระหนี้ราคาสินค้าแต่ละครั้ง จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินให้สูงกว่าราคาสินค้าที่ซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 เพื่อนำเงินในส่วนที่ชำระเพิ่มมาหักกับหนี้เก่าที่ค้างชำระแก่โจทก์และในเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์รวม 41 ครั้ง รวมเป็นเงิน 8,651,659.67 บาท และโจทก์ได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้วตามใบส่งของ ใบเสร็จรับเงินเช็คธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ราคาสินค้าที่ซื้อจากโจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์นำเช็คกับใบเสร็จรับเงิน และใบแจ้งยอดบัญชีกระแสรายวัน ตลอดจนเอกสารใบกำกับภาษี และชุดนำฝากของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (แฟ้มสีชมพู) มารับฟังเป็นพยานหลักฐานชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานโดยไม่ยื่นบัญชีระบุพยานและส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ก่อนตามที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 และ 90 ทั้งเป็นเพียงสำเนาเอกสารขัดกับมาตรา 93 ที่ให้รับฟังแต่ต้นฉบับนั้น เห็นว่า ตามบัญชีระบุพยานของจำเลยทั้งสองฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2554 อันดับที่ 5 และ 6 ได้ระบุถึงพยานเอกสารที่จำเลยทั้งสองอ้างเป็นพยานต่อศาล คือรายการยอดซื้อสินค้าและยอดชำระราคาสินค้าแก่โจทก์ทั้งหมด ตลอดจนสำเนาภาพถ่ายเช็คที่โจทก์ได้นำเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของโจทก์ทั้งหมดและได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 อันดับที่ 2 ระบุเอกสารที่อ้างเป็นยอดซื้อสินค้าและยอดชำระราคาสินค้าของบริษัทสปริงคูล จำกัด ให้กับโจทก์ 1 แฟ้ม ทั้งแนบสำเนาเช็คซึ่งเป็นหลักฐานการชำระหนี้ค่าสินค้า (ที่ตรวจพบปัจจุบัน) รวม 13 ฉบับ ท้ายคำให้การ แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นบัญชีระบุพยานและพยายามรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่จะอ้างเป็นพยานต่อศาลเท่าที่ทำได้เพื่อให้โจทก์ได้มีโอกาสตรวจสอบในเบื้องต้นเท่าที่มี จึงพอแปลได้ว่าเป็นการอ้างเหตุขัดข้องในการส่งเอกสารให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจสอบ เมื่อพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าเอกสารทั้งหมดดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญในประเด็นแห่งคดีที่จะนำมาพิสูจน์ชี้ขาดผลแห่งคดีได้ และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) แม้เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงสำเนาเอกสารแต่ขณะที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือคัดค้านการนำสืบว่าไม่มีต้นฉบับถือได้ว่าโจทก์ยอมรับสำเนาเอกสารถูกต้องตรงกับต้นฉบับ ศาลจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (4) ที่ศาลอุทธรณ์นำเอกสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า เช็คธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ราคาสินค้าเก่าที่จำเลยทั้งสองค้างชำระแก่โจทก์ตามข้อตกลงไม่ใช่ชำระราคาสินค้าตามฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ระบุว่าการชำระหนี้ราคาสินค้าดังกล่าวเป็นการชำระหนี้ราคาสินค้าที่ซื้อตามฟ้อง เป็นการชำระหนี้โดยไม่ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเพื่อชำระหนี้รายการใด โจทก์จึงมีสิทธินำเงินดังกล่าวไปหักจากหนี้เก่าตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองจึงยังคงค้างชำระหนี้ราคาสินค้าที่ซื้อตามฟ้อง ได้ความว่า นอกจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ราคาสินค้าตามฟ้องแล้วยังมีหนี้ราคาสินค้าเก่าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์อีกเป็นกรณีมีมูลหนี้ที่ค้างชำระหลายรายซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ถึงกำหนดนั้น…ในระหว่างหนี้สินหลายรายที่ตกหนักแก่ลูกหนี้เท่าๆ กัน ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน…” จะเห็นได้ว่า กฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุไว้ก็ต้องชำระหนี้ที่ระบุไว้ตามความประสงค์ของลูกหนี้ หากไม่ระบุไว้ ถ้าหนี้หลายรายถึงกำหนดชำระแล้ว ก็ให้หนี้สินรายเก่าที่สุดเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน สำหรับคดีนี้ เมื่อพิจารณาเช็คธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จำนวน 45 ฉบับ ที่จำเลยที่ 1 ออกเพื่อชำระราคาสินค้าให้โจทก์ จะเห็นได้ว่ามีเช็คจำนวน 31 ฉบับ ที่มีจำนวนเงินตามเช็คเท่ากับราคาสินค้าที่จำเลยที่ 1 ซื้อจากโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินและใบส่งของ ซึ่งตรงกับสินค้าที่ซื้อตามคำฟ้อง แม้การออกเช็คชำระหนี้ดังกล่าวจะไม่ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ราคาสินค้าที่ซื้อจากโจทก์ตามฟ้อง แต่การออกเช็คมีจำนวนเงินตรงกับจำนวนเงินในใบเสร็จและใบส่งของที่จำเลยที่ 1 ซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องดังกล่าว ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ออกเช็ค 31 ฉบับดังกล่าวเพื่อชำระค่าสินค้าที่ซื้อจากโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ชำระหนี้รายใดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องทั้งสามสิบเอ็ดรายการดังกล่าวให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 127,808.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2551 ชำระเงิน 208,504.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2551 ชำระเงิน 141,279.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2551 ชำระเงิน 171,641.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2552 ชำระเงิน 123,367.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2552 ชำระเงิน 301,477.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2552 ชำระเงิน 21,935 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552 และชำระเงิน 18,540.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2553 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ