คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ดำเนินการถอนบังคับคดีและคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 126834 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 242 แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและค่าเสียหายเป็นเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กันยายน 2557) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ถึงแก่ความตาย นางเพชรินทร์ ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 มิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านรับฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 โจทก์เป็นลูกหนี้จำเลยที่ 4 ซึ่งพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 58,556.56 บาท แก่จำเลยที่ 4 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 57,478.84 บาท นับแต่วันที่ 24 มีนาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2553 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงจากจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด จากนั้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ และวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 126834 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 242 โดยประเมินราคารวมเป็นเงิน 779,520 บาท ครั้นวันที่ 2 ธันวาคม 2556 เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 22 มกราคม 2557 แต่ก่อนวันนัดขายทอดตลาดครั้งแรกนางเพชรินทร์ บุตรของโจทก์ติดต่อเจรจาขอชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 4 และพนักงานของจำเลยที่ 3 ร่างหนังสือฉบับลงวันที่ 20 มกราคม 2557 ขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ และนางเพชรินทร์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 4 ทางเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ ครั้งแรกวันที่ 31 มกราคม 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ครั้งที่ 3 วันที่ 31 มีนาคม 2557 ครั้งที่ 4 วันที่ 1 พฤษภาคม 2557 และครั้งที่ 5 วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ครั้งละ 15,000 บาท เป็นเงิน 75,000 บาท แต่ภายหลังนางเพชรินทร์ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 โดยนางสาวรัฐนันท์เป็นผู้ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์จากการขายทอดตลาดในราคา 610,000 บาท คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์มิได้อุทธรณ์
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในประการแรกมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4330/2551 ของศาลแขวงพระนครใต้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่านางเพชรินทร์บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน นอกจากนี้ที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า การติดต่อขอชำระหนี้ของโจทก์มิใช่เป็นกรณีขอชำระหนี้ปิดบัญชี แต่เป็นการขอผ่อนชำระหนี้ และมีการขอลดยอดหนี้ อำนาจในการพิจารณาตัดสินใจอนุมัติจะต้องมีการยืนยันโดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากจำเลยที่ 4 ก่อน แม้จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ แต่หากจำเลยที่ 4 ยังมิได้ยืนยันและหรือให้การอนุมัติเป็นหนังสือมายังจำเลยที่ 1 การขอประนอมหนี้ของโจทก์ยังหามีผลผูกพันจำเลยที่ 4 แต่ประการใดนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใด ประเด็นนี้จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ระยะเวลาตั้งแต่วันที่โจทก์ทราบว่าโจทก์จะต้องถูกดำเนินคดีโดยการถูกฟ้องขอบังคับให้ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 4 ตั้งแต่ปี 2551 จวบจนกระทั่งถึงวันที่โจทก์ได้รับทราบว่าถูกยึดทรัพย์สินออกขายทอดตลาดเป็นระยะเวลาถึงเกือบเจ็ดปี ถือเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้โอกาสแก่โจทก์ในการติดต่อขอชำระหนี้พอสมควรแล้ว แต่โจทก์หาได้ขวนขวายที่จะจัดการชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นไปแต่ประการใด กลับปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไป ซึ่งไม่อาจคาดหมายได้ว่าหากจำเลยที่ 4 พิจารณาอนุมัติตามที่โจทก์มีหนังสือขอประนอมหนี้แล้วนั้น โจทก์จะไม่ผิดนัดชำระหนี้ต่อจำเลยที่ 4 อีก หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 พิจารณาผ่อนผันให้โจทก์ไปโดยลำพัง ก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าโจทก์จะไม่ผิดนัดต่อจำเลยที่ 4 อีก และหากจำเลยที่ 1 นำคำขอประนอมหนี้ของโจทก์ไปเสนอแก่จำเลยที่ 4 แต่ต่อมาจำเลยที่ 4 พิจารณาไม่อนุมัติตามที่โจทก์เสนอ จะทำให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายมากยิ่งกว่า ทั้งเอกสารการขอประนอมหนี้ของโจทก์ที่นำส่งมาจะต้องผ่านการพิจารณาอนุมัติจากผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 อีกหลายขั้นตอน จนกว่าจะทราบผลการพิจารณา อาจพ้นกำหนดระยะเวลาอายุความแห่งการบังคับคดีของจำเลยที่ 4 ไปแล้ว ผลเสียหายย่อมเกิดแก่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ว่าจ้าง และเกิดแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับจ้างที่ต้องถูกไล่เบี้ยเอาผิดในภายหลังได้อีก การผ่อนชำระหนี้ของโจทก์ที่ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 4 ก็ไม่ตรงตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในคำขอประนอมหนี้ของโจทก์ การกระทำของโจทก์เป็นไปโดยพลการมิได้มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 แต่ประการใด ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏโดยชัดแจ้งว่าในการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีมีการประเมินราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เป็นจำนวนถึง 779,520 บาท แต่โจทก์เป็นหนี้จำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 4330/2551 ของศาลแขวงพระนครใต้ เป็นต้นเงินจำนวนเพียง 57,478.84 บาท เมื่อนำจำนวนหนี้ของโจทก์มาเทียบกับราคาประเมินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ราคาประเมินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เป็นจำนวนเงินที่สูงกว่ายอดหนี้ของโจทก์อย่างมาก โจทก์ต้องใช้ความระมัดระวังในการรักษาผลประโยชน์ให้มากยิ่งกว่าวิญญูชนโดยทั่วไปจะพึงรักษาผลประโยชน์ของตนเอง แต่โจทก์กลับหาได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอแต่ประการใดไม่ในการติดตามสอบถามผลการขอประนอมหนี้และหรือการติดตามเข้าดูแลการขายทอดตลาดทุกนัดเพื่อคัดค้านราคา หรือทำประการใด ๆ เพื่อรักษาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของเจ้าพนักงานบังคับคดียังปรากฏว่า ในวันขายทอดตลาด หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาด โดยไม่มีหลักฐานแสดงความยินยอมของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาแสดงนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไม่งดการขายทอดตลาดในวันดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องและเจือสมกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 (3) ที่ได้บัญญัติถึงวิธีงดการบังคับคดีเอาไว้ว่า ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจะมีอำนาจในการงดการบังคับคดี หรือชะลอการขายทอดตลาด แต่โจทก์มิได้กล่าวถึงหรือกล่าวอ้างหรือมีหลักฐานใด ๆ มาแสดงต่อศาลให้เห็นได้ว่ามีการตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ดำเนินการของดการบังคับคดี หรือขอถอนการบังคับคดี พฤติการณ์ของโจทก์ส่อแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งโจทก์สามารถใช้ความระมัดระวังอย่างเช่นวิญญูชนทั่วไปจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ที่จักต้องระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้เพียงพอ แต่โจทก์หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ทั้งสิ้น แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา จำเลยที่ 1 มิได้แสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การแต่ประการใด ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ต่อมาในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายแจ้งการยึดอสังหาริมทรัพย์ให้โจทก์รับทราบและให้นำส่งต้นฉบับโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งโจทก์ย่อมจะทราบเรื่องการยึดทรัพย์หลังจากนั้นไม่กี่วัน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2556 หลังจากทำการยึดทรัพย์ไว้ประมาณ 3 ปี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ โดยประกาศขายทอดตลาดนัดแรกในวันที่ 22 มกราคม 2557 ซึ่งโจทก์ได้รับประกาศขายทอดตลาดวันที่ 3 ธันวาคม 2556 แต่โจทก์กลับเพิกเฉยไม่ติดต่อขอประนอมหนี้หรือติดต่อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 4 เสียแต่เนิ่น ๆ กลับมาติดต่อขอประนอมหนี้ก่อนวันขายทอดตลาดทรัพย์เพียงแค่ 2 วัน เพื่อให้จำเลยที่ 4 พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ได้รับคำขอประนอมหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ก็ย่อมจะไม่พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ของโจทก์อย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นระยะเวลากระชั้นชิด ทรัพย์ที่นำยึดไว้ก็มิได้ติดภาระจำนองใด ๆ โอกาสที่จำเลยที่ 4 จะได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดเต็มจำนวนมีค่อนข้างแน่นอน อีกทั้งการขอชำระหนี้ในงวดที่ 1 นั้นก็เป็นระยะเวลา หลังจากการขายทอดตลาดทรัพย์นัดแรกไปแล้ว ไม่แน่ว่าโจทก์จะชำระหนี้ตามข้อตกลงหรือไม่ อันจะทำให้เสียเวลาและโอกาสรวมถึงค่าใช้จ่ายในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ในแต่ละครั้ง และกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขออนุญาตศาลเพื่อประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ในแต่ละครั้งนั้นค่อนข้างจะใช้เวลาที่ยาวนาน ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 4 จะอนุมัติคำขอประนอมหนี้ของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นติดต่อขอประนอมหนี้ในระยะกระชั้นชิดทั้งที่ได้รับรู้ว่าทรัพย์ถูกยึดมาตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม 2553 ย่อมเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ อีกทั้งการขอให้งดการขายทอดตลาดทรัพย์นั้นตามกฎหมายแล้วโจทก์ในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องมีหนังสือยินยอมให้งดการบังคับคดีแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับทราบด้วย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงจะงดการบังคับคดีให้ และในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีเรื่องขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มีข้อความระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้มีส่วนได้เสียทุกคนต้องไปดูแลการขายทอดตลาดตามกำหนดนัดทุกครั้ง หากไม่ไปดูแลการขายจะถือว่าไม่ติดใจคัดค้านราคาที่มีผู้เสนอและไม่มีสิทธิคัดค้านราคาอีกต่อไป ทั้งถือว่าบุคคลนั้นทราบกำหนดนัดและสถานที่ขายในนัดต่อไปด้วยแล้ว กรณีถือได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 4 ไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายใด ๆ แก่โจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่า การที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ไปดำเนินการของดการขายทอดตลาดไว้จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการและจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนต้องร่วมกันรับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์ ดังนั้น ย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงให้เป็นยุติดังที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างในฎีกาว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวดังที่จำเลยที่ 4 กล่าวอ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า การที่โจทก์ไม่ไปดูแลการขายทอดตลาดถือได้ว่าโจทก์มีส่วนประมาทด้วย และกำหนด ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดเป็นราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ต้องร่วมกันชำระแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 350,000 บาท นับว่าสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ศาลฎีกาไม่มีเหตุจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share