คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5092/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามฟ้องของโจทก์ นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองด้วยดังนั้น แม้ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ก็ยังจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งก็คือจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยรถที่โจทก์รับประกันภัยและต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 258,657 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องจำนวน 3,233 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 261,890 บาท ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 258,657 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่รับฟ้องเพราะถึงแก่ความตายไปก่อนฟ้องแล้ว
จำเลยที่ 2 และ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ 261,890 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 258,651 บาท นับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถกระบะหมายเลขทะเบียน 9 ป – 1628 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยที่ 3 โดยระบุความรับผิดของจำเลยที่ 3 ต่อบุคคลภายนอกในความเสียหายต่อทรัพย์สิน 600,000 บาท ต่อครั้ง ส่วนโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถกระบะหมายเลขทะเบียน ตน 7506 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายปิยะ ระบุความรับผิดของโจทก์ต่อความเสียหายของรถที่โจทก์รับประกันภัย 440,000 บาท ต่อครั้ง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาประกันภัยทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 1 ขับรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยชนท้ายรถที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์ซ่อมรถที่โจทก์รับประกันภัยเป็นเงิน 258,657 บาท แล้วมาฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุรถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์มีทนายเบิกความลอยๆ ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 แต่ไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดง โดยจำเลยที่ 2 นำสืบโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ 3 รับผิด ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การประกันภัยค้ำจุนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เป็นการประกันภัยความเสียหายอันเกิดจากรถที่เอาประกันภัยไปก่อความเสียหายแก่บุคคลอื่นในเมื่อผู้เอาประกันภัยขับรถหรือยินยอมให้ผู้อื่นขับรถ ซึ่งสอดรับกับเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 การคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่ ที่ว่า “บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง” ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นผู้กำหนดให้บริษัทประกันภัยทุกบริษัทใช้เงื่อนไขเดียวกันหมด เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกันจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถไว้ต่อจำเลยที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 นำรถไปขับขี่ย่อมต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถที่โจทก์รับประกันภัย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยทำละเมิดเองจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อโจทก์ในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะที่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 แล้ว ยังพอถือได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเองด้วย ดังนั้น แม้ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ดังที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาก็ตามแต่ก็ยังจะต้องพิจารณาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ ซึ่งข้อนี้โจทก์สืบพยานสองปากคือนางสาวรวิวรรณ ผู้รับมอบอำนาจช่วงและเป็นทนายความโจทก์ กับนายสงวน พนักงานของโจทก์มีหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เบิกความรวมความว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 ขับรถไปในทางการที่จ้างหรือทางอันมีผลประโยชน์ร่วมกันหรือโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน แต่ก็มิได้เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 หรือไม่แต่อย่างใด ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่สืบพยาน จึงไม่มีพยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 มาชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมต้องรับฟังตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบสำหรับความรับผิดต่อบุคคลภายนอกของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 เสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ซึ่งก็คือจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยรถที่โจทก์รับประกันภัยและต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท

Share