คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เท่านั้น ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าว แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และให้ร่วมกันคืนรถจักรยานยนต์หรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 50,360 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา นายสราวุฒิ ผู้เสียหายที่ 1 และนางสาวศศิกาญจน์ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ ส่วนความผิดฐานอื่นโจทก์ร่วมทั้งสองไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และโจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงิน 225,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสี่เอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองไป เนื่องจากนายโอมพี่ชายโจทก์ร่วมที่ 2 ใช้ให้เอามาเป็นประกันหนี้ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ค้างชำระจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 3 กระทำความผิดขณะอายุสิบแปดปีเศษ เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 4 เดือน ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะ จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 18 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 12 ปี และฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 900 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนดคนละ 12 ปี 8 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี 4 เดือน 40 วัน และปรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนรถหรือใช้ราคาแทน 20,000 บาท และร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 225,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง
โจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 หนึ่งในสาม และลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม ในความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คงปรับ 400 บาท เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 8 ปี 4 เดือน 40 วัน และปรับ 400 บาท และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืน โดยใช้ยานพาหนะ จำคุก 18 ปี และฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 900 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 4 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี 8 เดือน และปรับ 600 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนรถจักรยานยนต์หรือใช้ราคาแทน 20,000 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาท และโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งสองเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์เท่านั้น ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสองในความผิดดังกล่าว แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีตัวโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ ขณะโจทก์ร่วมทั้งสองอยู่ที่ชั้นสองของบ้านที่เกิดเหตุ ได้ยินเสียงรถจักรยานยนต์ขับมาจอดที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุ และได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนพูดขอน้ำมันรถจักรยานยนต์จากโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 เปิดประตูหน้าบ้าน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างวิ่งเข้ามาในบ้านพร้อมกัน โดยจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนลูกซองยาวจี้ศีรษะโจทก์ร่วมที่ 1 จำเลยที่ 3 ใช้เท้าถีบโจทก์ร่วมที่ 1 จนเซ จำเลยที่ 2 ถืออาวุธมีดปลายแหลมยาวประมาณ 3 นิ้ว ถึง 4 นิ้ว ยืนอยู่ข้างจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 4 ยืนอยู่เฉย ๆ ห่างจากหน้าบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตร จากนั้นจำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 เอารถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองไป ขณะที่จำเลยที่ 2 จะเข้าไปเข็นรถจักรยานยนต์ โจทก์ร่วมที่ 2 เข้าแย่งกุญแจรถจักรยานยนต์ซึ่งเสียบคาไว้ จำเลยที่ 1 จึงหันปากกระบอกปืนลูกซองยาวมาจ่อที่คางของโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วพูดว่า “มึงอย่ายุ่ง” โจทก์ร่วมที่ 2 ถอยออกมา จำเลยที่ 2 เข็นรถจักรยานยนต์ออกไปบริเวณหน้าบ้าน จำเลยที่ 1 พูดกับโจทก์ร่วมทั้งสองว่า “ถ้าพรุ่งนี้มึงยังอยู่บ้านท่าข้าม กูจะกลับมายิงหัวมึง” พร้อมทั้งกำชับว่าอย่าแจ้งความ จากนั้นจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับโดยไม่ได้ชักชวนหรือพูดอะไรกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 3 เดินไปพร้อมกับจำเลยที่ 4 ไปที่รถจักรยานยนต์ซึ่งจอดไว้ที่ถนนหน้าบ้านเกิดเหตุ นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ร่วมทั้งสองว่าขณะที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 4 ยืนอยู่เฉย ๆ ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 10 เมตร เท่านั้น อีกทั้งยังได้ความจากโจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 4 ถามค้านว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้พูดจาข่มขู่ ไม่ได้ช่วยเข็นรถ ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้เข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ และยืนอยู่เฉย ๆ โดยไม่ได้พูดข่มขู่โจทก์ร่วมทั้งสอง ไม่ได้ช่วยจำเลยที่ 2 เข็นรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองออกจากบ้านเกิดเหตุ ทั้งไม่มีพฤติการณ์ร่วมกระทำการใด ๆ หรือเข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำการปล้นทรัพย์ ลำพังแต่จำเลยที่ 4 มาบ้านที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และกลับไปพร้อมกับจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง จึงยังไม่อาจรับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 4 ได้ นอกจากนี้หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนหลังจากวันที่โจทก์ร่วมทั้งสองแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ 5 วัน และให้การตั้งแต่แรกว่าจำเลยทั้งสี่ไปบ้านที่เกิดเหตุโดยใช้รถจักรยานยนต์ 2 คัน จำเลยที่ 1 เป็นคนชวนบอกว่าจะไปทำธุระที่บ้านโจทก์ร่วมทั้งสองเท่านั้น ซึ่งก็ปรากฏหลักฐานจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและข้อมูลทะเบียนราษฎรว่าโจทก์ร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อยู่หมู่ที่ 6 อำเภอชะอวด เช่นเดียวกัน การที่จำเลยที่ 4 ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไปกับจำเลยที่ 3 ในเส้นทางกลับบ้านของตนตามคำชวนของจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 4 อาจไม่ทราบวัตถุประสงค์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไปก่อเหตุปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองก็เป็นได้ ประกอบกับจำเลยที่ 4 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมทั้งสองมาก่อน และให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 ไปบ้านเกิดเหตุโดยมีเจตนากระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เฉพาะที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ยกคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share