คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หนึ่งเดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคหนึ่งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ชอบแต่จะพิจารณาพิพากษาเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยอื่นเท่านั้น และหากเห็นว่ามีเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยที่ 1 ก็มีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติมาตรา 213มิใช่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1เพราะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91, 295, 340 วรรคสอง, 371 ริบมีดทำครัวของกลางและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินจำนวน 40 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง, 371 ประกอบด้วยมาตรา 91 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง, 371 ประกอบด้วยมาตรา 91ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 10 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 3 ปี ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 90 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 2 ปี และปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3คนละ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29ริบมีดทำครัวของกลางให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 40 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 1 ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371, 83 ประกอบด้วยมาตรา 91ความผิดฐานทำร้ายร่างกายให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ 8 เดือน คำขอให้คืนเงินและข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยทั้งสามฟังเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 29 มกราคม 2542 ก่อนครบกำหนด 1 วัน จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 20 วัน อ้างว่าเอกสารที่ใช้ในการประกอบอุทธรณ์ยังไม่พร้อม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “อนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 19กุมภาพันธ์ 2542” วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “จำเลยที่ 3 ยื่นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตรับเป็นอุทธรณ์จำเลยที่ 3 สำเนาให้โจทก์แก้ภายในกำหนด 15 วัน” ส่วนจำเลยที่ 1 เพิ่งจะยื่นคำร้องลงวันที่ 3 มีนาคม 2542 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ใจความในคำร้องระบุว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2541 จำเลยที่ 1 ประสงค์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เนื่องจากเอกสารที่ใช้ประกอบในการยื่นอุทธรณ์ยังไม่พร้อมเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปสัก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปจนถึงวันที่ 18 มีนาคม 2542” จำเลยที่ 1ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 10 มีนาคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “รับเป็นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 สำเนาให้โจทก์แก้” เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง” และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หากคู่ความจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพราะมีพฤติการณ์พิเศษจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่อให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปก่อนสิ้นระยะเวลาหนึ่งเดือนตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย กรณีของจำเลยที่ 1 มิได้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ เพราะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลงแล้วศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปให้ได้จนถึงวันที่ 18มีนาคม 2542 เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 10 มีนาคม 2542 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หนึ่งเดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 198 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบการที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ชอบเช่นเดียวกันชอบแต่จะพิจารณาพิพากษาเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 เท่านั้น หากพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เห็นว่ามีเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ศาลอุทธรณ์จะพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลยที่ 1 ก็มีอำนาจกระทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติของมาตรา 213 ดังกล่าว มิใช่พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขึ้นมาดังวินิจฉัยจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ใหม่ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ใหม่และให้ยกฎีกาโจทก์

Share