คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7766/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ และลูกจ้างก็มีหน้าที่ตอบแทนคือต้องทำงานให้แก่นายจ้างเช่นเดียวกัน นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างแก่ลูกจ้างเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542 โดยให้ลูกจ้างหยุดทำงานตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ฉะนั้นนายจ้างจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพียงวันที่ 20 มกราคม 2542 เท่านั้น ไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างหลังจากนั้นอีกเพราะสัญญาแรงงาน สิ้นสุดลงและลูกจ้างพ้นจากฐานะการเป็นลูกจ้างและไม่ได้ทำงานให้แก่นายจ้างแล้ว
จำเลยแสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์โดยทำเป็นหนังสือเลิกจ้างระบุให้มีผลเป็นการเลิกจ้างนับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2542 เป็นต้นไป โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2542 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดในวันที่ระบุไว้
การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีผลเพียงทำให้ นายจ้างต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างเท่านั้น และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ก็มิใช่ค่าจ้าง เมื่อสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง การนับระยะเวลาทำงานของลูกจ้างก็สิ้นสุดลงด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ ๑๕ ทุกระยะ ๗ วัน กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จนกว่าจำเลยจะจ่ายเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๒๕๗,๒๘๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๕๔,๓๐๒ บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๐,๐๐๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว… คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ ๓ ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยจะต้องจ่ายค่าจ้างในเดือนมกราคม ๒๕๔๒ และค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพียงใด สำหรับค่าจ้างในเดือนมกราคม ๒๕๔๒ นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๕ มีความหมายว่า สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ และลูกจ้างก็มีหน้าที่ตอบแทนคือต้องทำงานให้แก่นายจ้างเช่นเดียวกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒ โดยให้โจทก์หยุดทำงานตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ฉะนั้น จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์เพียงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒ เท่านั้น ไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างหลังจากนั้นอีกเพราะสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างระหว่างวันที่ ๒๑ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๒ จากจำเลย เพราะโจทก์พ้นจากฐานะการเป็นลูกจ้างของจำเลยและไม่ได้ทำงานให้แก่จำเลยแล้ว ส่วนปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เพียงใดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยแสดงเจตนาเลิกจ้างโจทก์โดยทำเป็นหนังสือเลิกจ้างระบุให้มีผลเป็นการเลิกจ้างนับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล. ๓ ทั้งนี้โดยโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดในวันที่ระบุไว้ ส่วนการที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่านั้น และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็มิใช่ค่าจ้าง สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลย จึงสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป การนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ก็สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวด้วย มิใช่นับถึงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ตามที่โจทก์อ้างแต่อย่างใด เมื่อนับระยะเวลาทำงานของโจทก์ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี และคงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๑๘๐ วัน เป็นเงิน ๒๕๗,๒๘๐ บาท คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในประเด็นทั้งสองข้อข้างต้นนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.

Share