แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174ที่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องมีอยู่ 2 กรณี กรณีแรกตามมาตรา 174(1) เป็นการทิ้งฟ้องเพราะโจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลยตามมาตรา 173 วรรคแรก ซึ่งเป็นคำฟ้องในศาลชั้นต้นที่จำเลยต้องให้การแก้คดี มิใช่ฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาที่จำเลยไม่จำต้องแก้คดี กรณีที่สองเป็นเรื่องโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ตามมาตรา 174(2) ในกรณีฟ้องอุทธรณ์จำเลยจะยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ จึงไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดีตามมาตรา 173 ที่จะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(1)ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ แต่มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์นำส่งเมื่อโจทก์มิได้นำส่งจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ตามมาตรา 174(2) หาได้ไม่
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 95 หมู่ที่ 8ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานีโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและให้ขับไล่จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ยื่นภายในกำหนด รับเป็นอุทธรณ์สำเนาให้จำเลยแก้โดยให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์การส่งถ้าจำเลยมีภูมิลำเนาตามเดิมไม่มีผู้รับให้ปิดถ้าส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งอุทธรณ์
ในวันที่ 11 กันยายน 2532 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าไม่ได้ตรวจดูคำสั่งศาลและเข้าใจว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาล จึงเป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้วางเงินค่านำส่ง ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินค่านำส่งและให้เจ้าพนักงานศาลนำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดให้แก่จำเลยและในวันเดียวกันจำเลยยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดให้แก่จำเลยภายในกำหนดเวลาที่ศาลสั่งจึงเป็นการทิ้งอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำแถลงของจำเลยว่าสั่งในคำแถลงของโจทก์และมีคำสั่งในคำแถลงของโจทก์ว่า อุทธรณ์ถือเป็นฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(3) เมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายแจ้งให้จำเลยแก้อุทธรณ์ให้จำเลยทราบ ทั้งมิได้แจ้งเหตุแห่งการเพิกเฉยภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นอุทธรณ์ ถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(1)
ในวันที่ 13 กันยายน 2532 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นในอุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดให้จำเลยแก้อุทธรณ์ขอให้อนุญาตให้โจทก์วางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดเพื่อนำส่งสำเนาอุทธรณ์และหมายนัดต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 1
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของโจทก์มีว่า กรณีของโจทก์ถือว่าเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 ที่จะถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องมีอยู่ 2 กรณี กรณีแรกตามมาตรา 174(1) เป็นการทิ้งฟ้องเพราะโจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอให้ส่งหมายเรียกให้แก่คดีแก่จำเลยตามมาตรา 173 วรรคแรก ซึ่งเป็นคำฟ้องในศาลชั้นต้นที่จำเลยต้องใช้การแก้คดี มิใช่ฟ้องอุทธรณ์หรือฎีกาที่จำเลยไม่จำต้องแก้คดีอย่างไร ส่วนกรณีที่สองเป็นเรื่องโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ตามมาตรา 174(2)ในคดีนี้เป็นการยื่นฟ้องอุทธรณ์ จำเลยจะยื่นคำแก้อุทธรณ์หรือไม่ก็ได้จึงมิใช่หน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดีตามมาตรา 173 ที่จะถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องหากเพิกเฉยไม่ร้องขอให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีตามมาตรา 174(1) ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ส่วนที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ แต่มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์นำส่ง ก็จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(2) หาได้ไม่ เพราะศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์นำส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ ที่ศาลล่างทั้งสองถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์จึงมิชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ใหม่