คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สหกรณ์โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ พ.ศ. 2520 ข้อ 8 ว่า เหรัญญิก หรือเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์จะเก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ไว้ได้ไม่เกินหนึ่งพันบาทเงินสดส่วนที่เกินให้นำส่งเข้าฝากในธนาคารที่สหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ในกรณีจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันในเวลานั้น ๆให้ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการทราบและให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกที่เปิดทำการ เงินสดที่เก็บรักษาไว้ดังกล่าวข้างต้นให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของสหกรณ์ ซึ่งจำเลยทราบระเบียบดังกล่าวดีอยู่แล้ว การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบกลับรักษาเงินสดของโจทก์ไว้เป็นจำนวนมากถึง 43,878.22 บาทโดยละเลยไม่นำส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทไปฝากธนาคารทั้งไม่ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์รับทราบและเก็บรักษาลูกกุญแจตู้นิรภัยเก็บเงินไว้ในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ห่างตู้นิรภัยเพียง 1 เมตร ง่ายต่อการที่คนร้ายจะค้นพบแล้วนำไปไขเปิดตู้นิรภัยนั้น พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้ามางัดโต๊ะทำงานและค้นได้ลูกกุญแจนำไปไขตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวข้างต้นไป ความเสียหายย่อมเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เงินของโจทก์จำนวน 43,878.22 บาท ที่อยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยหายไป ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จำเลยให้การว่า จำเลยเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยเก็บเงินโดยใช้ความระมัดระวังอย่างดีแล้ว การที่เงินของโจทก์หายเนื่องจากถูกโจรกรรมจึงไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเก็บเงินเกิน 1,000 บาท ไว้ในตู้นิรภัยแม้ไม่ถูกระเบียบ ก็ไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ แต่การที่จำเลยเก็บซ่อนลูกกุญแจตู้นิรภัยไว้ในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ใกล้ตู้นิรภัยเป็นการประมาทเลินเล่อ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน43,878.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าการที่จำเลยเก็บเงินไว้เกิน 1,000 บาทเพื่อความคล่องตัวในการปฏิบัติหน้าที่ ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ โจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ขอให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยตอนนี้เป็นการประมาทเลินเล่อและให้จำเลยรับผิดจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ได้แก้อุทธรณ์ไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การที่จำเลยเก็บเงินสด 43,878.22 บาทโดยไม่ได้นำฝากธนาคารไว้ ไม่รายงานแก่ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ กับทั้งเก็บลูกกุญแจปิดเปิดไว้ในโต๊ะทำงานเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ และเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการเก็บรักษากุญแจตู้ กรณีจึงมิใช่เป็นไปดังที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มิได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นเกี่ยวกับการเก็บเงินเกินกว่า 1,000 บาท ไว้โดยฝ่าฝืนระเบียบการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ เมื่อโจทก์แก้อุทธรณ์เป็นประเด็นไว้ในชั้นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้ด้วยแม้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จะลงท้ายว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบแล้วก็น่าจะหมายความเฉพาะส่วนที่พิพากษาให้จำเลยรับผิด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาพอสรุปได้ว่า ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่จำเลยเก็บลูกกุญแจไว้ในโต๊ะทำงานเป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยที่เก็บเงินไว้โดยฝ่าฝืนระเบียบเป็นความประมาทเลินเล่อเสียแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยการกระทำของจำเลยประการอื่นว่าประมาทเลินเล่อหรือไม่อีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยฝ่าฝืนระเบียบก็ดี หรือเก็บลูกกุญแจไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานก็ดี ยังไม่เป็นการประมาทเลินเล่อและไม่เป็นการละเมิดนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย การพิจารณาวินิจฉัยในปัญหานี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์รับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยเป็นเหรัญญิกมีหน้าที่เก็บรักษาเงินของโจทก์ โจทก์มีระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของสหกรณ์ พ.ศ. 2520 ข้อ 8 ว่า “เหรัญญิกหรือเจ้าหน้าที่การเงินของสหกรณ์จะเก็บรักษาเงินสดของสหกรณ์ไว้ได้ไม่เกินหนึ่งพันบาท เงินสดส่วนที่เกินให้นำส่งเข้าฝากในธนาคารที่สหกรณ์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ในกรณีจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันในเวลานั้น ๆ ให้ทำบันทึกเสนอประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการทราบและให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกที่เปิดทำการเงินสดที่เก็บรักษาไว้ดังกล่าวข้างต้นให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยของสหกรณ์ (ในระหว่างที่สหกรณ์ยังไม่มีตู้นิรภัยให้ประธานกรรมการนำฝากไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการ) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2525จำเลยได้เก็บเงินสดจำนวน 43,878.22 บาท ของโจทก์ไว้โดยไม่นำเข้าฝากธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชี จำเลยได้นำเงินเข้าเก็บไว้ในตู้นิรภัยของทางราชการโดยไม่ได้ทำบันทึกเสนอเพื่อขออนุมัติต่อประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์ ต่อมามีคนร้ายงัดโต๊ะที่จำเลยเก็บลูกกุญแจตู้นิรภัยไว้แล้วนำลูกกุญแจไปไขตู้นิรภัยเอาเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ไป พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทราบระเบียบว่าด้วยการรับจ่ายและเก็บรักษาเงินของโจทก์ดีอยู่แล้วว่าห้ามมิให้เหรัญญิก หรือเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์เก็บรักษาเงินสดไว้เกินจำนวนหนึ่งพันบาท เงินส่วนที่เกินให้ฝากธนาคารที่โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากไว้ ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำเข้าฝากได้ทันตามเวลา ให้ทำบันทึกเสนอประธานหรือรองประธานกรรมการโจทก์ทราบและให้นำส่งเข้าฝากในวันแรกเปิดทำการแต่จำเลยก็ไม่ยอมปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว กลับเก็บรักษาเงินสดของโจทก์ไว้เป็นจำนวนมากถึง 43,878.22 บาท โดยละเลยไม่ยอมนำส่วนที่เกินหนึ่งพันบาทไปฝากธนาคาร ทั้งไม่ทำบันทึกเสนอให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการของโจทก์รับทราบอีกด้วยส่วนลูกกุญแจตู้นิรภัยเก็บเงินจำเลยก็ไม่ได้เก็บรักษาตามระเบียบแต่กลับนำไปเก็บในโต๊ะทำงานซึ่งอยู่ห่างตู้นิรภัยเพียงประมาณ1 เมตร ง่ายต่อการที่คนร้ายจะค้นหาพบแล้วนำไปไขเปิดตู้นิรภัยพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อมีคนร้ายลักลอบเข้ามางัดโต๊ะทำงานและค้นได้ลูกกุญแจนำไปไขตู้นิรภัยแล้วลักเอาเงินสดจำนวนดังกล่าวไปย่อมเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาเป็นกรณีที่ยังไม่มีระเบียบการรับจ่ายและเก็บรักษาเงิน ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share