คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน…” เมื่อ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินพิพาทให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2536 การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จึงอยู่ในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือแม้สัญญาซื้อขายนี้จะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมอบที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ ต่างก็เป็นนิติกรรมที่เป็นการจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจมีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ในการจัดการดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำเลยทั้งสามเป็นผู้ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความเอง จึงให้ลงโทษฐานใช้หรืออ้างเอกสารเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า ที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารสิทธิใด ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเขตปฏิรูปที่ดิน เดิมจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินจำนวนเนื้อที่ 8 ไร่เศษ รวมทั้งที่ดินพิพาทซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ และจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ยื่นคำขอต่อสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท โดยจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในแบบกระจายสิทธิการถือครองที่ดิน ขอสละสิทธิการถือครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 ลงชื่อยินยอมและจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า จำเลยที่ 2 ยกที่ดินพิพาทให้ตั้งแต่ปี 2548 ต่อมาจำเลยที่ 3 ทำการนำรังวัดปักหลักเขตในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชมีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2550 ให้จำเลยที่ 1 ได้รับคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเนื่องจากที่ดินพิพาทไม่อาจซื้อขายกันได้ ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 28 โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งฝ่ายจำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ฝ่ายจำเลยจึงยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ภายในระยะเวลาสามปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินตามมาตรา 25 ใช้บังคับ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายด้วยประการใด ๆ หรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่ศาลรู้เองได้ โดยคู่ความไม่ต้องนำสืบ เมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ตำบลห้วยปริก อำเภอฉวาง และตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2536 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 กันยายน 2536 และตามมาตรา 2 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป พระราชกฤษฎีกาจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2536 ดังนั้น การทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2539 จึงอยู่ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับ สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 หรือแม้สัญญาซื้อขายนี้จะเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมอบที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบต่อสู้ ต่างก็เป็นนิติกรรมที่เป็นการจำหน่ายหรือก่อให้เกิดภาระติดพันใด ๆ ซึ่งที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่กล่าวในข้างต้นแล้ว นิติกรรมนั้นจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจมีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ในการจัดการดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่อศาล ส่วนที่โจทก์กล่าวในคำแก้ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1696/2544 นั้น เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างนั้นเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มิใช่ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share