คำวินิจฉัยที่ 25/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนทั้งสี่และหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงไว้กับโจทก์ทั้งสองที่สำนักงานที่ดินหน่วยงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๕ การที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสอง รวมถึงการทำนิติกรรมอื่น ขณะจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ทั้งสองเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลายขณะจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินและนิติกรรมซื้อขายสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ทั้งสอง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมการไถ่ถอนการขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่และนิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ ๕ ให้การว่าเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๕ ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามระเบียบกฎหมายโดยสุจริต ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินและนิติกรรมอื่นที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองจะเรียกเงินที่จ่ายไปให้กับจำเลยทั้งห้าคืนได้หรือไม่ เพียงใดเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของคู่สัญญาในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๕ /๒๕๕๘

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๖ นางปราณี ด่านชัยวิโรจน์ ที่ ๑ นางสุรัตน์ ธีระพันธ์เจริญ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องนายสำรองหรือคมเดช วัดสว่าง ที่ ๑ นางสุพร ตันศราวิพุธ ที่ ๒ นางอัจฉรา วีระใชช่วง ที่ ๓ นายดาบตำรวจอนันต์ จันทร์ลาด ที่ ๔ กรมที่ดิน ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๖๗/๒๕๕๖ ความว่าเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๐๓, ๕๐๖๐๔, ๕๑๔๑๗, ๑๒๓๗๙ ตำบลปึกเตียน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ไว้กับโจทก์ทั้งสองที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาท่ายาง หน่วยงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๕ โดยก่อนจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๗๙ มีชื่อจำเลยที่ ๑ ถือกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนจำนองไว้กับจำเลยที่ ๓ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๐๔ มีชื่อจำเลยที่ ๒ ถือกรรมสิทธิ์และที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๐๓ และ ๕๑๔๑๗ จำเลยที่ ๑ ขายฝากไว้กับจำเลยที่ ๒ ในวันที่จดทะเบียนขายฝากกับโจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๒ จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๐๔ ให้แก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๐๖๐๔, ๕๑๔๑๗ และไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๗๙ ก่อนจดทะเบียนขายฝากไว้กับโจทก์ทั้งสอง การขายฝากดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ทั้งสองจ่ายค่าขายฝากเป็นเช็คระบุชื่อผู้รับเงิน ๔ ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายจำเลยที่ ๒ จำนวน ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ใช้ไถ่ถอนการขายฝากและซื้อที่ดินจากจำเลยที่ ๒ ฉบับที่ ๒ สั่งจ่ายจำเลยที่ ๓ จำนวน ๑,๔๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ใช้ไถ่ถอนจำนองที่ดินจากจำเลยที่ ๓ ฉบับที่ ๓ สั่งจ่ายจำเลยที่ ๔ จำนวน ๔,๘๓๐,๐๐๐ บาท ฉบับที่ ๔ สั่งจ่ายกระทรวงการคลังผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลย ที่ ๑ แจ้งว่าเป็นค่าจดทะเบียนทำนิติกรรมขายฝากและจดทะเบียนอื่นและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนและโจทก์ทั้งสองชำระเงินสดแก่จำเลยที่ ๑ อีก ๘๐๐,๐๐๐ บาท ในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาขายอาคารสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๑๔๑๗ และเลขที่ ๕๐๖๐๔ รวม ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยตกลงจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ ๑ ไม่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามกำหนด และไม่ไถ่ถอน การขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวภายในกำหนด ต่อมาวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาลนี้ เรื่องนิติกรรมอำพราง โมฆะกรรม เพิกถอนการโอน ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ ต่อมาโจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยที่ ๑ ตกเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ และภายหลังจำเลยที่ ๑ ถอนฟ้องโจทก์ทั้งสอง การที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสอง
รวมถึงการทำนิติกรรมอื่น ขณะจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย นิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดิน รวมถึงการทำนิติกรรมอื่นจึงเป็นโมฆะ โจทก์ทั้งสองเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลายขณะจำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินและนิติกรรมซื้อขายสิ่งปลูกสร้างกับโจทก์ทั้งสอง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมการไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน ระหว่างจำเลยทั้งสี่ และนิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ คืนเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์โดยสุจริต และถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ ๑ ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อจำเลยที่ ๑ ตกเป็นบุคคลล้มละลายตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบ ตามกฎหมาย คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายและจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขายฝากที่ดินของจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย นิติกรรมไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๓๗๙ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ภายหลังจำเลยที่ ๑ ปลดจากล้มละลาย ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๕ ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๕ ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามระเบียบกฎหมายโดยสุจริต ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร อันเป็นคดีปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งสองจะต้องพิจารณาว่านิติกรรมขายฝากที่ดินและนิติกรรมอื่นที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้น ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งสองจะเรียกเงินที่อ้างว่าจ่ายไปให้กับจำเลยทั้งห้าคืน ได้หรือไม่เพียงใด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของคู่สัญญา อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าการที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมจดทะเบียนขายฝากที่ดินกับโจทก์ทั้งสอง รวมถึงการทำนิติกรรมอื่น ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๔ ได้กระทำขึ้นขณะจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย นิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมอื่นจึงเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมอื่นดังกล่าวและให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ รับผิดคืนเงิน แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและอื่น ๆ ดังกล่าวได้ดำเนินการโดยเจ้าพนักงานที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๑ โดยการจดทะเบียนเจ้าพนักงานที่ดินต้องเป็นผู้จัดทำสัญญาเกี่ยวกับการนั้น และก่อนการทำการจดทะเบียนเจ้าพนักงานที่ดินต้องทำการสอบสวนในเรื่องสิทธิและความสามารถของบุคคล รวมตลอดถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ หากนิติกรรมที่คู่กรณีนำมาขอจดทะเบียนเป็นโมฆะกรรม เจ้าพนักงานที่ดินไม่จดทะเบียนให้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๓ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๕ ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ข้อ ๒ การจดทะเบียน จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ และการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน รวมทั้งสัญญาที่เจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำขึ้น ตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และให้จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและหน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าพนักงานที่ดินได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและการกระทำละมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แม้คดีนี้อาจต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิของคู่สัญญา แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงประเด็นที่ศาลต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยของประเด็นหลักที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่าการ จดทะเบียนของเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และแม้ในประเด็นย่อยดังกล่าวจะต้องพิจารณา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินที่เป็นกฎหมายทั่วไป แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีหรือกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดโดยเฉพาะ และแม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาให้รับผิดคืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่การที่จะพิจารณาให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ต้องพิจารณาในประเด็นหลักแห่งคดีดังกล่าวก่อนว่าการจดทะเบียนของเจ้าพนักงานที่ดินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ (๓)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนทั้งสี่และหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย ตามคำฟ้องอ้างว่า จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงไว้กับโจทก์ทั้งสองที่สำนักงานที่ดิน หน่วยงานในความรับผิดชอบของจำเลยที่ ๕ การที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรม จดทะเบียนขายฝากที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งสอง รวมถึงการทำนิติกรรมอื่น ขณะจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์ทั้งสองเชื่อว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ เป็นบุคคลล้มละลาย ขณะทำนิติกรรม ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมการไถ่ถอนการขายฝากที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสี่ นิติกรรมการขายฝากที่ดินและนิติกรรมการซื้อขายสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๑ ขายฝากที่ดินทั้งสี่แปลงให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยทั้งสี่ไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ ๕ ให้การว่า เจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๕ ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามระเบียบกฎหมายโดยสุจริต ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิของโจทก์ทั้งสอง การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า นิติกรรมขายฝากที่ดินและนิติกรรมอื่นที่จำเลยที่ ๑ ทำขึ้นตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ทั้งสองเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ทั้งสอง จะเรียกเงินที่จ่ายไปให้กับจำเลยทั้งห้าคืนได้หรือไม่ เพียงใดเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของคู่สัญญาในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางปราณี ด่านชัยวิโรจน์ ที่ ๑ นางสุรัตน์ ธีระพันธ์เจริญ ที่ ๒ โจทก์ นายสำรองหรือคมเดช วัดสว่าง ที่ ๑ นางสุพร ตันศราวิพุธ ที่ ๒ นางอัจฉรา วีระใชช่วง ที่ ๓ นายดาบตำรวจอนันต์ จันทร์ลาด ที่ ๔ กรมที่ดิน ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share