คำวินิจฉัยที่ 36/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินพบว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์และพร้อมรื้อถอนกำแพงที่รุกล้ำเข้ามา จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยโดยการที่เจ้าของเดิมอุทิศให้เพื่อใช้สร้างอาคารสถานีทวนสัญญาณ จำเลยครอบครองที่ดินและอาคารจนถึงปัจจุบัน โดยเจตนาเป็นเจ้าของจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์กล่าวอ้าง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๖/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดตราด
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตราดโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ บริษัทมีย์ แอนด์ มา เรียลเอสเตท จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลจังหวัดตราด เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๖๖/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๗๑ เลขที่ดิน ๘ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๑๑.๑ ตารางวา จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๗๐ เลขที่ดิน ๙ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เนื้อที่ ๓ งาน ๒๗.๔ ตารางวา เดิมที่ดินของโจทก์กับจำเลยเป็นของบุคคลเดียวกัน ต่อมาเจ้าของเดิมได้ออกโฉนดที่ดินเป็นแปลงย่อย ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลง มีเนื้อที่ติดต่อกัน จำเลยใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการก่อสร้างอาคารเป็นที่ทำการสาขาคลองใหญ่ เพื่อธุรกิจให้บริการลูกค้า สร้างเสาสัญญาณสูง และบ้านพักคนสวน ภายหลังโจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๖๗๑ พบว่าจำเลยก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ รวมเนื้อที่ประมาณ ๘๓ ตารางวา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์แปลงโฉนดเลขที่ ๖๗๑ และพร้อมรื้อถอนกำแพงที่รุกล้ำเข้ามา กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๗๐ เลขที่ดิน ๙ ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยได้รับการยกให้จากนายธนิต ไตรวุฒิ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เพื่อให้จำเลยก่อสร้างอาคารสถานีทวนสัญญาณ รวมเนื้อที่ ๑ ไร่ ต่อมา วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๓ นางแน่งน้อย ไตรวุฒิ ผู้รับสิทธิการให้จากนายธนิตโอนที่ดินให้แก่จำเลย และจำเลยครอบครองที่ดินและอาคารจนถึงปัจจุบันเป็น เวลา ๒๙ ปี โดยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์กล่าวอ้าง คิดเป็นเนื้อที่ ๘๓ ตารางวา การยกให้ที่ดินแก่จำเลยของนายธนิตเป็นการอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ ที่ดินย่อมตกเป็นที่สาธารณะทันที ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาขอ ศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตราดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะพิพากษาบังคับจำเลยให้แก่โจทก์ ตามคำขอท้ายฟ้องนั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินบริเวณที่พิพาทเนื้อที่ประมาณ ๘๓ ตารางวา โจทก์หรือจำเลยบุคคลใดจะมีสิทธิดีกว่ากันแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นข้อพิพาทอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยเป็นบริษัทมหาชน แต่ในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน ซึ่งมีการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ถือว่าจำเลยเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง และมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามขอบวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายในการจัดให้มีสิ่งปลูกสร้างเพื่ออำนวยประโยชน์แก่การบริการสาธารณะ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ออกไปจากที่ดินของโจทก์ พร้อมทั้งให้รื้อถอนกำแพง เสาสูง และบ้านพักคนสวน อันเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีไว้เพื่อการบริการสาธารณะออกไปจากที่ดินส่วนที่รุกล้ำ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๗๑ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๗๐ เดิมที่ดินของโจทก์กับจำเลยเป็นของบุคคลเดียวกัน ต่อมาเจ้าของเดิมได้ออกโฉนดที่ดินเป็นแปลงย่อย ทำให้ที่ดินทั้งสองแปลง มีเนื้อที่ติดต่อกัน จำเลยใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยการก่อสร้างอาคารเป็นที่ทำการสาขาคลองใหญ่ เพื่อธุรกิจให้บริการลูกค้า สร้างเสาสัญญาณสูงและบ้านพักคนสวน ภายหลังโจทก์ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๖๗๑ พบว่าจำเลยก่อสร้างกำแพงรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ รวมเนื้อที่ประมาณ ๘๓ ตารางวา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์แปลงโฉนดเลขที่ ๖๗๑ และพร้อมรื้อถอนกำแพงที่รุกล้ำเข้ามา กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยโดยการอุทิศให้เป็นที่สาธารณประโยชน์ของเจ้าของที่ดินเดิมตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ จำเลยครอบครองที่ดินและอาคารจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๒๙ ปี โดยเจตนาเป็นเจ้าของจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทในส่วนที่โจทก์กล่าวอ้าง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่น ได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทมีย์ แอนด์ มา เรียลเอสเตท จำกัด โจทก์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share