คำวินิจฉัยที่ 39/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่บริษัทเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมทางหลวงเป็นจำเลย โดยอ้างสิทธิเรียกร้องในค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระและเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการ อาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างประกอบระหว่างจำเลยและบริษัท ณ. แม้คดีไม่มีข้อพิพาทโดยตรงจากสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างสิทธิในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัท ณ. และเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้ากับบริษัท ณ. เพื่อก่อสร้างปรับปรุงอาคารตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์อันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลย เมื่อสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผล อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓๙/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ บริษัทอนิเมเซีย จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมทางหลวง จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๕๑๘๕/๒๕๕๖ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทณันฐเขตร์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ให้ทำการสัญญาจ้างเหมา ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการ อาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างประกอบ ให้แก่จำเลยเป็นเงิน ๖๙๘,๕๐๐ บาท โดยบริษัทณันฐเขตร์ฯ ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับผลประโยชน์ตามสัญญาให้แก่ “กิจการร่วมค้าอนิเมเซีย” ซึ่งมีบริษัทณันฐเขตร์ฯ และโจทก์เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมลงทุนเพื่อทำงานก่อสร้างปรับปรุงอาคารตามสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อบริษัทณันฐเขตร์ฯ ส่งมอบงานและจำเลยรับมอบงานตามสัญญาแล้ว จำเลยกลับปฏิบัติผิดสัญญาโดยชำระค่าจ้างให้บริษัทณันฐเขตร์ฯ เพียงบางส่วนเป็นเงิน ๒๒๐,๑๓๓ บาท ยังค้างชำระค่าจ้างเป็นเงิน ๔๗๘,๓๖๗ บาท และค้างชำระเงินประกันสัญญา ๓๔,๙๒๕ บาท ซึ่งกิจการร่วมค้าอนิเมเซียได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้จำเลยชำระเงินที่ค้างชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าอนิเมเซียและผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างและเงินประกันสัญญาให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๑๓,๒๙๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ข้อกล่าวอ้างตามฟ้องโจทก์ไม่เป็นความจริง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาและไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินที่โจทก์กล่าวอ้าง เนื่องจากสัญญาระหว่างบริษัทณันฐเขตร์ฯ และจำเลยไม่ใช่สัญญาจ้างเหมา แต่เป็นสัญญาที่จ่ายค่าจ้างตามปริมาณงานที่ผู้รับจ้างได้ทำเสร็จจริง เมื่อจำเลยตรวจรับงานโดยคำนวณจากปริมาณงานที่ผู้รับจ้างทำเสร็จจริงจึงได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินจำนวน ๒๒๐,๑๓๓ บาท ซึ่งบริษัทณันฐเขตร์ฯ ได้ลงนามรับรองเห็นชอบและรับเงินไปครบถ้วนแล้ว การชำระหนี้ของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องครบถ้วน ส่วนเงินประกันจำนวน ๓๔,๙๒๕ บาท จำเลยมีสิทธิยึดไว้ตามข้อผูกพันในสัญญา ข้อ ๘ เรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของงาน โดยจะคืนให้ต่อเมื่อครบกำหนดเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่จำเลยได้รับมอบงาน โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จำเลยไม่เคยให้ความยินยอมและไม่เคยได้รับแจ้งบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหนังสือจากโจทก์หรือบริษัทณันฐเขตร์ฯ การโอนสิทธิเรียกร้องที่กล่าวอ้างได้กระทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะทำสัญญากับบริษัทณันฐเขตร์ฯ จึงเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารฉบับพิพาทมีวัตถุประสงค์จ้างเหมาเพื่อปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยของพนักงานจำเลย มิใช่อาคารสถานที่ที่สาธารณชนเข้าไปใช้ประโยชน์โดยทั่วไปและมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาทางแพ่ง โดยจำเลยมิได้มีเอกสิทธิ์ของรัฐเหนือคู่สัญญาเพื่อให้การใช้อำนาจปกครองหรือการดำเนินการทางปกครองบรรลุผล อีกทั้งยังเป็นการทำสัญญาที่อยู่ภายใต้ความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายอันมีลักษณะเป็นเอกเทศสัญญาระหว่างบุคคล ประกอบกับโจทก์ฟ้องว่าบริษัทณันฐเขตร์ฯ และโจทก์ทำการปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยให้จำเลยแล้วเสร็จและจำเลยตรวจรับมอบงานแล้ว แต่จำเลยชำระค่าจ้างเพียงบางส่วนและค้างชำระเงินประกันสัญญา ซึ่งจำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาระหว่างบริษัทณันฐเขตร์ฯ และจำเลยไม่ใช่สัญญาจ้างเหมา แต่เป็นสัญญาที่จ่ายค่าจ้างตามปริมาณงานที่ผู้รับจ้างทำเสร็จจริง เมื่อจำเลยอนุมัติจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่บริษัทณันฐเขตร์ฯ ตามปริมาณงานที่ทำแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาอีกต่อไป จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งโดยแท้ ความรับผิดของจำเลยที่มีต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นลักษณะของนิติกรรมสัญญา มิใช่ลักษณะของสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและบริษัทณันฐเขตร์ฯ ตกลงทำสัญญาจ้างเหมา ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการ อาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างประกอบ ซึ่งอาคารและสิ่งก่อสร้างประกอบดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นในการวางแผน สำรวจ ออกแบบ ตรวจสอบและวิเคราะห์ทางวิศวกรรมในงานปรับปรุงและบำรุงรักษาทางหลวงในความรับผิดชอบ อันมีผลทำให้การดำเนินการบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามข้อ ๑๙ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ บรรลุผล สัญญาจ้างเหมาให้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารฉบับพิพาทจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุแห่งสัญญาที่จัดให้มีเครื่องมือสำคัญและจำเป็นเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผล อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างตามสัญญาดังกล่าวฟ้องคดีต่อศาลขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระตามสัญญา ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๒/๒๕๕๒ และที่ ๘๙/๒๕๕๖

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
เห็นว่า คดีนี้ ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทำสัญญาจ้างเหมาบริษัทณันฐเขตร์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ให้ทำการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการ อาคารที่พักอาศัย และสิ่งก่อสร้างประกอบ โดยโจทก์และบริษัทณันฐเขตร์ฯ เป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจร่วมลงทุนในนาม “กิจการร่วมค้าอนิเมเซีย” เพื่อทำงานก่อสร้างปรับปรุงอาคารตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว โดยบริษัทณันฐเขตร์ฯ ได้โอนสิทธิเรียกร้องการรับผลประโยชน์ตามสัญญาให้แก่ “กิจการร่วมค้าอนิเมเซีย” แต่เมื่อบริษัทณันฐเขตร์ฯ ส่งมอบงานและจำเลยรับมอบงานตามสัญญาแล้ว จำเลยกลับปฏิบัติผิดสัญญาโดยชำระค่าจ้างให้บริษัทณันฐเขตร์ฯ เพียงบางส่วน โดยค้างชำระค่าจ้างและเงินประกันสัญญา ซึ่งกิจการร่วมค้าอนิเมเซียได้แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องและขอให้จำเลยชำระเงินที่ค้างชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้าอนิเมเซียได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้างและเงินประกันสัญญาให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย การโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีผลผูกพันจำเลย เห็นว่า คดีนี้แม้ไม่ใช่ข้อพิพาทโดยตรงจากสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารระหว่างจำเลยและบริษัทณันฐเขตร์ฯ แต่เมื่อข้อเท็จจริงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างสิทธิในการเรียกร้องค่าจ้างที่จำเลยค้างชำระและเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวในฐานะเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทณันฐเขตร์ฯ และเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้ากับบริษัทณันฐเขตร์ฯ เพื่อก่อสร้างปรับปรุงอาคารตามสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์อันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลย เมื่อสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงอาคารดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและมีวัตถุแห่งสัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญและจำเป็นเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของจำเลยบรรลุผล อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทอนิเมเซีย จำกัด โจทก์ กรมทางหลวง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share