คำวินิจฉัยที่ 41/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ชำระเงินค่าดูแลรักษาและค่าเสียหาย กรณีผิดสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ปรับปรุงโปรแกรม และดูแลบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ จำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองเท่านั้น ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยทำสัญญาพิพาทว่าจ้างโจทก์ ปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงระบบบัญชี การเงิน และการบริหารทรัพยากรที่ใช้อยู่เดิม อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระบบการเงินและการบัญชีของจำเลย ดังนี้ การดำเนินการตามข้อสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่จำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์เข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการ เพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานทางธุรการเท่านั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๖ บริษัทที.เอ็น.อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๒๑๙/๒๕๕๖ ความว่า จำเลยตกลงทำสัญญาจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จกับโจทก์ให้ปรับปรุงโปรแกรม SAP จากระบบเดิม SAP R/๓ เป็นระบบ SAP EEC ๖.๐ เป็นเงิน ๒๕๑,๔๙๐,๐๐๐ บาท กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน ๔๕๐ วัน ข้อสัญญากำหนดให้โจทก์เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และติดตั้งพร้อมทั้งปรับแต่งโปรแกรมรุ่นใหม่จนแล้วเสร็จในสภาพพร้อมใช้งานแล้วจึงส่งมอบงานให้แก่จำเลย ตกลงชำระค่าจ้าง ๕ งวด โดยโจทก์จะต้องดูแลการใช้งาน และดูแลบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ตามสัญญาให้แก่จำเลย ทั้งนี้ โจทก์จะเป็นผู้ชำระค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมและเจ้าของผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์แทนจำเลยในระหว่างระยะเวลารับประกัน ๒ ปี หลังจากทำสัญญาโจทก์ได้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ ติดตั้งและปรับแต่งโปรแกรมให้แก่จำเลยจนสามารถใช้งานได้แล้ว จำเลยประสงค์จะใช้งานโปรแกรมที่ปรับปรุงรุ่นใหม่โดยไม่รอให้งานเสร็จสมบูรณ์เสียก่อน จึงขอให้โจทก์ส่งมอบโปรแกรมเพื่อให้จำเลยนำไปใช้งานจริงก่อนระยะเวลารับประกัน ๒ ปี หลังจากนั้นโจทก์ได้ทำงานที่เหลือตามสัญญาเสร็จสิ้น และจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยยังขอให้โจทก์ดูแลบำรุงรักษาระบบ ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อไปโดยยินดีรับผิดชอบค่าบริการของโจทก์ ตลอดจนให้โจทก์ชำระค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมแทนจำเลยไปก่อน แต่เมื่อโจทก์เรียกเก็บค่าบริการจำเลยกลับเพิกเฉย โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญา การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าดูแลรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรม จำนวน ๗๖,๑๖๗,๗๓๖ บาท และค่าเสียหายที่ชำระค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมล่าช้า จำนวน ๗,๐๗๙,๗๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๘๒,๒๔๖,๔๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ เนื่องจากยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการรับประกัน ส่วนที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายถัดจากวันครบกำหนดวันที่รับประกันถึงวันบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยไม่เคยให้โจทก์บำรุงรักษาและแก้ไขปัญหา มีเพียงให้โจทก์แก้ปัญหาที่โจทก์ไม่ได้ดำเนินการภายในระหว่างระยะเวลาการรับประกัน กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องชำระค่าลิขสิทธิ์สำหรับโปรแกรม และค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โจทก์ไม่สามารถเรียกร้องได้เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์สำหรับโปรแกรมรวมวงเงินอยู่ในสัญญาจ้างจัดทำระบบแล้ว เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมีวัตถุประสงค์ประกอบการค้าและให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด รวมถึงการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ก็ตาม แต่สัญญาที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ปรับปรุงโปรแกรมตามฟ้อง จำเลยมีวัตถุประสงค์จะปรับปรุงระบบบัญชี การเงิน ระบบบริหารพัสดุ ระบบบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของจำเลย จึงเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการภายในองค์กรของจำเลยเอง สัญญาจ้างดังกล่าวมิได้เป็นสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่ใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางแพ่ง ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ปรับปรุงโปรแกรมจากระบบ SAP R/๓ เป็นระบบ SAP EEC ๖.๐ ตามสัญญาจ้างลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๑ โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งติดตั้งโปรแกรมจนแล้วเสร็จในสภาพพร้อมใช้งาน ภายหลังจำเลยรับมอบงานและชำระค่าจ้างครบถ้วนแล้ว และโจทก์ได้ดูแลรักษาระบบและเครื่องคอมพิวเตอร์จนครบระยะเวลาประกัน จำเลยยังคงให้โจทก์บำรุงรักษาระบบและเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อไป รวมทั้งให้โจทก์ชำระค่าลิขสิทธิ์โปรแกรมแทนจำเลยไปก่อน แต่เมื่อโจทก์เรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวจากจำเลย จำเลยกลับเพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทำสัญญาจ้างปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อว่าจ้างให้โจทก์ปรับปรุงโปรแกรมจากระบบ SAP R/๓ เป็นระบบ SAP EEC ๖.๐ และจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์พร้อมติดตั้งโปรแกรมดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงระบบบัญชี การเงิน และการบริหารทรัพยากรที่ใช้อยู่เดิม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงาน และเพื่อสนับสนุนข้อมูลในการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันเป็นเครื่องมือที่สำคัญจำเป็นที่จำเลยใช้ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือจัดทำบริการสาธารณะด้านโทรคมนาคมของจำเลยให้บรรลุผลอันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินจากการโต้แย้งสิทธิตามสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ชำระเงินค่าดูแลรักษาและค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ปรับปรุงโปรแกรม และดูแลบำรุงรักษาเครื่องคอมพิวเตอร์ จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จำเลยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งแปรรูปและรับโอนกิจการมาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสื่อสารโทรคมนาคมทุกชนิด โดยจำเลยมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองเท่านั้น ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยทำสัญญาพิพาทว่าจ้างโจทก์ โดยมีสาระสำคัญว่าให้โจทก์ปรับปรุงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากระบบ SAP R/๓ เป็นระบบ SAP EEC ๖.๐ เพื่อปรับปรุงระบบบัญชี การเงิน และการบริหารทรัพยากรที่ใช้อยู่เดิม อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานระบบการเงินและการบัญชีของจำเลย ดังนี้ การดำเนินการตามข้อสัญญาพิพาทจึงเป็นเพียงการที่จำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์เข้ามาดำเนินการจัดการงานทางธุรการเพื่อความสะดวกของจำเลยในการปฏิบัติงานทางธุรการเท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง และไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะถือว่าเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทที.เอ็น.อินฟอร์เมชั่น ซิสเท็มส์ จำกัด โจทก์ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share