คำวินิจฉัยที่ 42/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ในสังกัด กรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับประทานขนมเอง โดยไม่ได้ตัดขนมเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นเหตุให้ขนมติดคอผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้พลัดตกจากเก้าอี้ศีรษะกระแทกพื้นได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ความรับผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่นั้นจะต้องเป็นหน้าที่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้าง เป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้ดูแลเท่านั้น มิใช่การกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๒/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๗ เด็กชายวีรภัทร ทันบุญ โดยนายวสันต์ สายสิงห์ บิดาโดยชอบ ด้วยกฎหมาย ที่ ๑ นายวสันต์ สายสิงห์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ที่ ๑ นางคำมวล ปรัสพันธ์ ที่ ๒ นางสาวฤทัย คำล้วน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๖/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ครูและผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้แจกขนมประเภทเยลลี่ให้แก่เด็กเล็กรวมทั้งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับประทาน โดยอาจใช้ความระมัดระวังด้วยการเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะรับประทานและใช้ช้อนตัก หรือใช้มีดตัดขนมให้เป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนนำขนมมาให้เด็กรับประทาน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ หาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ ทำให้ขนมติดคอผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเหตุให้พลัดตกจากเก้าอี้ศีรษะกระแทกพื้นได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย อนึ่งในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ พนักงานอัยการศาลแขวงอุบลราชธานีได้ยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ในข้อหาความผิดต่อร่างกาย ประมาท ต่อศาลแขวงอุบลราชธานี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๖๓๕/๒๕๕๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๕๖๐/๒๕๕๖ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัส มิได้เกิดจากการกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ในการปฏิบัติหน้าที่ครูผู้ดูแลเด็กและผู้ช่วยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่เกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับประทานอาหารอย่างรีบเร่ง โดยไม่เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนที่จะกลืน ซึ่งอยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ หาใช่เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ในการปฏิบัติ หน้าที่ไม่ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ จะให้การรับสารภาพในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๕๖๓๕/๒๕๕๖ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๕๖๐/๒๕๕๖ ของศาลแขวงอุบลราชธานี และศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองถอนฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การกระทำละเมิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้ใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮขึ้น เพื่อจัดการศึกษาปฐมวัยให้เด็ก (อายุ ๒-๕ ปี) ได้รับการพัฒนาเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นด้านการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมาย บัญญัติไว้ มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเด็กเล็ก (อายุ ๒-๕ ปี) ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากการจัดการศึกษาของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮ แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้แจกขนมเยลลี่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และเด็กนักเรียนคนอื่นๆ รับประทานโดยไม่ได้ใช้มีด ตัดขนมเป็นชิ้นเล็กๆ หรือใช้ช้อนตักและปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับประทานเอง เป็นเหตุให้ขนมติดคอ ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงจากเก้าอี้ศีรษะกระแทกพื้นจนได้รับอันตรายสาหัสและทุพพลภาพขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานต้นสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ตามคำฟ้องจึงเป็นกรณีผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มิได้จัดการศึกษาปฐมวัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ได้มาตรฐานตามระบบการศึกษาของชาติ และเป็นภยันตรายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเด็กเล็ก แต่ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยให้แก่เด็กเล็กซึ่งยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดที่เข้าอบรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮตามหน้าที่ ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายและเรียกค่าสินไหมทดแทนที่เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองศาลปกครองสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นส่วนราชการส่วนท้องถิ่น จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นลูกจ้างในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กล่าวหาว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ กระทำโดยประมาทด้วยการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเหตุให้ขนมเยลลี่ติดคอ ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ และผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองโดยการไม่ดูแลผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ตามสมควร อันเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใดไม่ ทั้งการที่จะพิจารณาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือไม่เพียงใดนั้น เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ กระทำละเมิดหรือไม่ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หากแต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ข้อเท็จจริงคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าได้รับความเสียหายกรณีครูและผู้ช่วยครู ผู้ดูแลเด็กเล็กและปฐมวัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการโดยประมาทเลินเล่อ โดยละเลยไม่ดูแลเด็กเล็กตามหน้าที่ปล่อยให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ รับประทานขนมเอง โดยไม่ได้ตัดขนมเป็นชิ้นเล็กๆ เป็นเหตุให้ขนมติดคอผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้พลัดตกจากเก้าอี้ศีรษะกระแทกพื้นได้รับอันตรายสาหัสต้องทุพพลภาพ ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ความรับผิดเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่นั้นจะต้องเป็นหน้าที่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลักษณะของพฤติกรรมต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอ้างเป็นการกล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลนักเรียนในระหว่างการเรียนการสอนของครูผู้ดูแลเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองไฮสังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นหน้าที่โดยทั่วไปของครูผู้ดูแลเท่านั้น มิใช่การกล่าวอ้างถึงการละเลยต่อหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะในการจัดการศึกษาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง เด็กชายวีรภัทร ทันบุญ โดยนายวสันต์ สายสิงห์ บิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ ๑ นายวสันต์ สายสิงห์ ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไฮ ที่ ๑ นางคำมวล ปรัสพันธ์ ที่ ๒ นางสาวฤทัย คำล้วน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share