แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานถึงกำหนดหนี้ตามสัญญาจำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ว. และจำเลยทำไว้เป็นประกันหนี้ประธานดังกล่าว ย่อมถึงกำหนดเช่นกัน ทรัพย์ที่ว. และจำเลยสามีภริยามีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ได้จำนองไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ของ ว. นั้น โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อโจทก์ แม้ ว. มิได้ถูกฟ้องหรือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเติมจำนวนทั้งสองว.และจำเลยในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้บัญชีเดินสะพัด แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึด จำเลยและนายวิโรจน์ เชื้อชูชาติ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ได้จดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของนายวิโรจน์ไว้ต่อผู้ร้องผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ในทรัพย์ที่โจทก์นำยึด ขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวก่อนเจ้าหนี้รายอื่นเป็นเงิน 501,581.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีนี้นายวิโรจน์มิได้ถูกฟ้องร่วมเป็นจำเลยด้วยจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ก่อนในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์จากเงินขายทอดตลาดทรัพย์ในส่วนที่เป็นของจำเลยกึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 250,790 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2535 อันเป็นวันถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไป
ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับเงินจากการขายทอดตลาดที่ดินในคดีนี้จนครบจำนวนหนี้ของผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ตามคำร้อง ของ ผู้ร้องไม่ปรากฏว่าหนี้จำนองถึงกำหนดชำระ อันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องอาจบังคับจำนองได้ผู้ร้องจึงไม่อาจได้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 289 หนี้จำนองเป็นหนี้จำนวนเดียวกัน ไม่อาจแบ่งแยกชำระระหว่างจำเลยกับนายวิโรจน์ได้ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ ก็ให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีผลถึงหนี้ส่วนของจำเลยด้วยพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำร้อง ของ ผู้ร้องในส่วนที่เกี่ยวกับการขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ์ของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามคำร้อง ของ ผู้ร้องว่า นายวิโรจน์ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับผู้ร้อง 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่27 ตุลาคม 2531 วงเงิน 150,000 บาท กำหนดชำระภายในวันที่26 ตุลาคม 2532 ฉบับที่สองลงวันที่ 12 มีนาคม 2534 กำหนดชำระภายในวันที่ 26 ตุลาคม 2534 ปรากฏตามสำเนาสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 3, 4 ตามลำดับ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกมีการต่ออายุสัญญารวม 2 ครั้ง ครั้งแรกต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2533 ครั้งที่สองต่ออายุสัญญาถึงวันที่26 ตุลาคม 2534 ปรากฏตามสำเนาหนังสือต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 8, 9 ตามลำดับ ดังนี้ถือได้ว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้ง 2 ฉบับ ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินโดยชัดแจ้งแล้วคือวันที่ 26 ตุลาคม 2534 เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นหนี้ประธานถึงกำหนด หนี้ตามสัญญาจำนองที่นายวิโรจน์ และจำเลยได้ทำไว้เป็นประกันหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวกับผู้ร้องอันเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมถึงกำหนดเช่นกัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม2535ถือได้ว่าเป็นการขอรับชำระหนี้เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้ตามสัญญาจำนองถึงกำหนดชำระแล้ว เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วคดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องประการต่อไปว่าผู้ร้องมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองเต็มจำนวนทั้งของจำเลยและนายวิโรจน์หรือไม่เพียงใด ซึ่งปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยมาแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคแรก บัญญัติว่า”ถ้าบุคคลใดชอบที่จะบังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้หรือชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านี้ได้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก็ดีหรือบุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ” จากบทบัญญัติดังกล่าวแยกได้เป็น 2 กรณี คือ บุคคลใดชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ ประการหนึ่ง และบุคคลใดชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินเหล่านั้นโดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้อีกประการหนึ่ง จะเห็นได้ว่า กรณีประการหลังนั้น บุคคลที่จำนองทรัพย์สินที่ถูกยึดนั้นไม่จำต้องถูกฟ้องและเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ทั้งเป็นการแสดงถึงเจตนารมย์ของกฎหมายมาตรานี้ว่าให้สิทธิผู้รับจำนองยื่นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้แก่ตน โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องผู้จำนองก่อนหรือผู้จำนองต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใดเพื่อที่จะให้คดีเสร็จไปโดยรวดเร็วไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ ประกอบกับนายวิโรจน์และจำเลยเป็นสามีภริยากันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของนายวิโรจน์และหนี้ตามสัญญาจำนองก็เป็นหนี้ร่วมระหว่างนายวิโรจน์กับจำเลย ซึ่งนายวิโรจน์ไม่มีสิทธิที่จะขอกันส่วนหนี้จำนวนนี้ได้อยู่แล้ว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองเต็มจำนวนทั้งของจำเลยและนายวิโรจน์
พิพากษากลับว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองในฐานะผู้รับจำนองเต็มตามจำนวน 501,581.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันยื่นคำร้อง(วันที่ 15 พฤษภาคม 2535) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ