คำวินิจฉัยที่ 29/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครอง กรณีผู้ฟ้องคดียื่นใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลในโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกต่อผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคำขอและเอกสารประกอบเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางการตรวจสอบการจ่ายเงินตามมาตรการรถยนต์คันแรกของกระทรวงการคลัง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติและไม่มีสิทธิรับเงินตามมาตรการดังกล่าว ขอให้จ่ายเงินภาษีตามโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า เงินที่รัฐให้คืนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกในจำนวนเท่ากับภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ที่ซื้อตามโครงการดังกล่าวเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นการลดภาระการลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งรถยนต์ใหม่คันแรกของประชาชนตามที่ได้แถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาล เงินดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นเงินภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ใหม่คันแรกที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตโดยตรงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินหรือการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมกับรัฐ อันเป็นคดีภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๘

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลภาษีอากรกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๗ นางสาวทรรศิกา ธารณเจษฎา ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กรมสรรพสามิต ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๑๖/๒๕๕๗ ความว่า ผู้ฟ้องคดีจองรถยนต์ใหม่คันแรกตามใบจองเลขที่ ARR-๑๒๐๙๐๐๓๔ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๕ และได้รับมอบรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๖ ต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) และยื่นคำขอใช้สิทธิรับคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกพร้อมแนบเอกสารประกอบต่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งตามเงื่อนไขการขอใช้สิทธิรับคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายของรัฐบาลกำหนดว่าผู้ซื้อต้องมีอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ และการจ่ายเงินตามสิทธิฯ จะจ่ายให้เมื่อครอบครองรถยนต์ ๑ ปีไปแล้ว แต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับมอบรถยนต์คือวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๕๖ ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้รับคืนเงินภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรก จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท จึงมีหนังสือติดตามผลการคืนภาษีดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งได้รับแจ้งว่าขณะที่ผู้ฟ้องคดีจองรถยนต์คันดังกล่าวผู้ฟ้องคดีมีอายุไม่ครบ ๒๑ ปี จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า เงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ซื้อต้องมีอายุ ๒๑ ปี ในวันที่ทำการจองรถยนต์และในขณะทำการเช่าซื้อรถยนต์ผู้ฟ้องคดีมีอายุเกิน ๒๑ ปีแล้ว ทั้งการจองรถยนต์เป็นเพียงคำมั่นว่าจะซื้อเท่านั้นอาจทำการยกเลิกการจองเมื่อใดก็ได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่คืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกให้แก่ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนเงินภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะใช้สิทธิขอรับคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาลไว้ว่าผู้ซื้อต้องมีอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในขณะทำการจองหรือซื้อรถยนต์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสิทธิในการใช้สิทธิขอรับคืนภาษี ขณะทำการจองรถยนต์คันแรกผู้ฟ้องคดีมีอายุเพียง ๒๐ ปี ๑๐ เดือน ถือว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ จึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินคืน การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกตามมาตรการรถยนต์คันแรก โดยผู้ฟ้องคดีได้ซื้อรถยนต์ใหม่ตามมาตรการดังกล่าวและได้ยื่นคำขอใช้สิทธิรับเงินตามมาตรการดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณาคำขอและเอกสารประกอบแล้วแจ้งให้ทราบว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และไม่ได้ส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามแนวทางที่กระทรวงการคลังกำหนด จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการจ่ายเงินตามมาตรการรถยนต์คันแรกแก่ผู้ฟ้องคดี คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โต้แย้งว่า คดีนี้เป็นการฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ คืนเงินภาษีสรรพสามิต จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนเงินภาษีอากร อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น เห็นว่า เงินที่รัฐนำมาจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรการรถยนต์คันแรกเป็นเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินและให้กระทรวงการคลังเสนอขอตั้งงบประมาณ ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ เงินที่รัฐจ่ายให้แก่ผู้ยื่นคำขอใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าวจึงมิใช่ภาษีอากรที่ได้เรียกเก็บจากผู้ชำระภาษี การจ่ายเงินตามมาตรการดังกล่าวจึงมิใช่การคืนภาษีตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กล่าวอ้าง อีกทั้งผู้ยื่นคำขอใช้สิทธิซึ่งเป็นผู้ซื้อรถยนต์มิได้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ดังนั้น คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากร ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ ซึ่งอนุมัติหลักการและแนวทางการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกตามมาตรการรถยนต์คันแรกที่กระทรวงการคลังเสนอ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ ซึ่งอนุมัติหลักการและแนวปฏิบัติเพิ่มเติมมาตรการรถยนต์คันแรก และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ที่อนุมัติขยายระยะเวลาการรับและส่งมอบรถยนต์รวมถึงเอกสารหลักฐานบางรายการในโครงการรถยนต์คันแรกนั้น เป็นกรณีที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการรถยนต์คันแรกเพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการ มีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคุณสมบัติของผู้ที่จะใช้สิทธิตามมาตรการดังกล่าว รวมทั้งแนวทางการดำเนินการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยผู้ประสงค์จะใช้สิทธิขอคืนเงินตามมาตรการดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบความถูกต้อง ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าผู้ใช้สิทธิมีคุณสมบัติและปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขก็จะเสนอให้กรมบัญชีกลางดำเนินการจ่ายเงินต่อไป ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมในทางแพ่ง เพราะคณะรัฐมนตรี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้ใช้อำนาจทางปกครองซึ่งจะทำให้มีสถานะเหนือกว่าประชาชนผู้ใช้สิทธิรวมทั้งผู้ฟ้องคดี หากแต่อยู่ในสถานะเท่าเทียมกัน ประกอบกับมาตรการรถยนต์คันแรกไม่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปที่จะเข้าลักษณะที่เป็นกฎ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ เพราะผู้ที่มีคุณสมบัติมิได้ถูกบังคับว่าจะต้องใช้สิทธิหากแต่อยู่ที่ความสมัครใจ เมื่อผู้ฟ้องคดียื่นคำขอใช้สิทธิต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงมีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการตรวจสอบว่าผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้หรือไม่ อันเป็นการกระทำในฐานะคู่สัญญาในทางแพ่ง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นกรณีพิพาทตามสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๗ และเงินที่คืนให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกก็มิใช่เงินภาษีสรรพสามิต แต่เป็นเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จ่ายจากเงินงบประมาณประจำปี โดยจ่ายให้ตามจำนวนภาษีสรรพสามิตที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๗ (๓) แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมอื่น

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้เข้าร่วมโครงการรถยนต์คันแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ ที่อนุมัติในหลักการและแนวทางการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก ผู้ฟ้องคดีได้จองรถยนต์ใหม่คันแรกและได้รับมอบรถยนต์แล้ว เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอใช้สิทธิรับคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่าคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้และไม่ได้รับสิทธิคืนภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งที่คุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีถูกต้อง ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนเงินภาษีสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีจองรถยนต์ในขณะที่อายุไม่ครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่มติคณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินคืน การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า โครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศสร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ด้วยการให้มีมาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสำหรับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๔ และวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ อนุมัติหลักการและแนวทางการจ่ายเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกตามมาตรการที่กระทรวงการคลังเสนอ รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อจ่ายเงินให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก โดยมาตรการดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการซื้อหรือจองรถยนต์ คุณลักษณะของรถยนต์ จำนวนเงินที่จ่ายถือตามค่าภาษีสรรพสามิตที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท/คัน คุณสมบัติของผู้ขอใช้สิทธิ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการครอบครองรถยนต์ วิธีการและระยะเวลาในการยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน และการจ่ายเงิน โดยให้กรมสรรพสามิตหรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่เป็นผู้รับคำขอและตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และกรมบัญชีกลางเป็นผู้อนุมัติเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ซื้อ อันจะเห็นได้ว่ามาตรการรถยนต์คันแรกมิได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ แต่เป็นมาตรการที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลักเกณฑ์การขอคืนเงินตามมาตรการดังกล่าวแยกต่างหากจากการคืนภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ นอกจากนี้มาตรการรถยนต์คันแรกยังกำหนดให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติให้คืนเงิน ส่วนกรมสรรพสามิตคงมีหน้าที่รับคำขอคืนและประสานภายในกับกรมบัญชีกลาง ส่วนทางด้านผู้ขอคืนนั้น กำหนดให้คืนแก่ผู้ซื้อโดยตรง มิใช่คืนให้แก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิต ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ มาตรา ๗ อีกทั้งเป็นกรณีที่ไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีที่จะต้องเสีย แต่เป็นกรณีที่ได้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมไปแล้ว จึงมาสู่ปัญหาว่าจะต้องคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์หรือไม่ โดยเฉพาะมาตรการรถยนต์คันแรกกำหนดด้วยว่า ให้จ่ายเงินตามสิทธิโดยถือตามจำนวนภาษีสรรพสามิตที่จ่ายจริง ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าเงินที่จ่ายเป็นเงินอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เพียงแต่ใช้จำนวนภาษีสรรพสามิตที่รัฐจัดเก็บมากำหนดกรอบการจ่ายเงินเท่านั้น ทั้งหากจะถือเป็นเงินภาษีก็ไม่น่าจะมีข้อจำกัดไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท/คัน อันจะเป็นการขัดต่อหลักความเสมอภาคทางภาษี นอกจากนี้กฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๙๓ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ก็กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากรัฐอันเนื่องมาจากการได้มาซึ่งรถยนต์คันแรกของผู้มีเงินได้ตามมาตรการรถยนต์คันแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๔ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงดังกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายในการช่วยเหลือให้ประชาชนมีรถยนต์เป็นของตนเอง โดยกำหนดให้มีมาตรการรถยนต์คันแรกขึ้นด้วยวิธีการให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวนเท่ากับภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ที่ซื้อ ดังนั้น เงินที่รัฐให้คืนแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกในจำนวนเท่ากับภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ที่ซื้อตามโครงการดังกล่าวจึงเป็นเงินช่วยเหลือเพื่อเป็นการลดภาระการลงทุน หรือค่าใช้จ่ายในการได้มาซึ่งรถยนต์ใหม่คันแรกของประชาชนตามที่ได้แถลงไว้ในนโยบายของรัฐบาลเงินดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นเงินภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ใหม่คันแรกที่รัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตโดยตรงตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินหรือการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตระหว่างผู้ประกอบอุตสาหกรรมกับรัฐอันเป็นคดีภาษีอากรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดียื่นใช้สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาลในโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบคำขอและเอกสารประกอบเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางการตรวจสอบการจ่ายเงินตามมาตรการรถยนต์คันแรกของกระทรวงการคลัง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติและไม่มีสิทธิรับเงินตามมาตรการดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวทรรศิกา ธารณเจษฎา ผู้ฟ้องคดี กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กรมสรรพสามิต ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share