แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทที่บัญญัติว่า การขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอันจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ หมายความว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยผู้ได้มาไม่มีเจตนาจะมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ตรงกันข้ามถ้าผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมีเจตนาจะมุ่งในการค้าหรือหากำไรแล้ว ต่อมาได้ขายทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้
ข้อเท็จจริงที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมาแล้วเกิดความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน จึงนำที่ดินไปจำนองค้ำประกันหนี้ที่ธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้ในทางการค้าหรือการใด ๆ ก็ดี และซื้อแล้วได้ใช้ตึกแถวเป็นที่เก็บสินค้าของห้างหุ้นส่วนก็ดี ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พึงใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นกระทำกันทั่วไป ส่วนที่ว่าที่ดินและตึกแถวตั้งอยู่ในย่านทำเลการค้าก็หาแสดงว่า ผู้ซื้อได้ซื้อมาโดยเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไม่ เพราะผู้ซื้ออาจซื้อมาให้เป็นสถานประกอบการค้าหรือเพื่ออาศัยในอนาคตก็ได้
การขายที่ดินและตึกแถวไปในราคาที่สูงกว่าราคาที่ซื้อมาหาแสดงว่าเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เพราะที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจมีราคาสูงขึ้นตามสภาพและค่าของเงิน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๒ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.๑๑ ที่ ส.๑๐๔๐/๑/๑๒๐๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๒ แจ้งการประเมินภาษีเงินได้ประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๑๙ ให้โจทก์เสียภาษีจำนวน ๒,๑๘๖,๗๓๔.๘๐ บาท และเงินเพิ่มจำนวน ๔๓๗,๔๓๖.๙๖ บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒,๖๒๔,๐๘๑.๗๖ บาท โจทก์เห็นว่าการประเมินไม่ชอบได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยเหตุผลว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้อง แต่มีเหตุผลอันควรผ่อนผันจึงพิจารณาลดเงินเพิ่มที่เรียกเก็บลงเหลือร้อยละ ๕๐ ของเงินเพิ่มตามกฎหมายให้โจทก์นำเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน ๒,๔๐๕,๔๐๘.๒๘ บาท ไปชำระ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ ๑ ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.๑๑ ที่ส.๑๐๔๐/๑/๑๒๐๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๒ และยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ ๘๑/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๔ และให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินค่าภาษีจำนวน ๓๙,๙๔๒ บาทแก่โจทก์ หากเห็นว่าโจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้ก็ขอได้สั่งแก้ไขจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียโดยให้ถือเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีใดก็เป็นเงินได้ของปีภาษีนั้นและหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ร้อยละ ๙๐ ของเงินได้โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ ที่ส.๑๐๔๐/๑/๑๒๐๓๘ ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๒๒ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ ๘๑/๒๕๒๔ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๔ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้จากการขายที่ดินและตึกแถวเสียนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า การขายที่ดินและตึกแถวของโจทก์เป็นการขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๒ (๒) ที่ใช้บังคับในขณะพิพาทและที่เกี่ยวกับคดีนี้บัญญัติว่า ‘การขายทรัพย์สินซึ่งทรัพย์สินนั้นได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร’ นั้นหมายความว่า การได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยผู้ได้มาไม่มีเจตนาจะมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ตรงกันข้ามถ้าผู้ได้มาซึ่งทรัพย์สินมีเจตนาจะมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรแล้วต่อมาได้ขายทรัพย์สินนั้นก็จะไม่ได้รับยกเว้นการเสียภาษีเงินได้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมาแล้วเกิดความจำเป็นต้องกู้ยืมเงิน จึงนำที่ดินไปจำนองค้ำประกันหนี้ที่ธนาคารเพื่อนำเงินไปใช้ในทางการค้าหรือการใด ๆ ก็ดี และซื้อที่ดินแล้วได้ใช้ตึกแถวเป็นที่เก็บสินค้าของห้างหุ้นส่วนก็ดี ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่พึงใช้ประโยชน์จากที่ดินนั้นกระทำกันทั่วไปส่วนที่ว่าที่ดินและตึกแถวตั้งอยู่ในย่ายทำเลการค้าก็หาแสดงว่า ผู้ซื้อได้ซื้อมาโดยเจตนามุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไม่ เพราะผู้ซื้ออาจซื้อมาใช้เป็นสถานประกอบการค้าหรือเพื่ออยู่อาศัยในอนาคตก็ได้
ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ขายที่ดินและตึกแถวได้ราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาถึง ๔,๑๕๐,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นการขายทรัพย์สินเพื่อหากำไร ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาจมีราคาสูงขึ้นตามสภาพและค่าของเงิน หาแสดงว่าถ้าขายได้ราคาสูงกว่าที่ซื้อมาเป็นการขายโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไม่
พิพากษายืน.