คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกก็แต่เฉพาะในกรณีผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จะไม่ต้องรับผิดในฐานผู้ครอบครองและใช้รถยนต์เพราะได้ให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อไป แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 3 ยังต้องรับผิดดังกล่าว จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ด้วย.
ตามกรมธรรม์ประกันภัยมิได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดแต่เฉพาะค่าซ่อมรถหรือค่าเสื่อมราคาเท่านั้น ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดใช้ค่าเช่ารถและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2529)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๔ โดยประมาทเลินเล่อพุ่งชนท้ายรถโจทก์ เป็นเหตุให้รถโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๒๔๐,๗๑๐.๒๓ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์ตามฟ้อง ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๑ มิใช่คนขับรถดังโจทก์อ้าง และมิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของคนขับรถโจทก์ โจทก์มิได้เสียหายดังฟ้อง จำเลยที่ ๔ รับประกันภัยค้ำจุนจากจำเลยที่ ๓ โดยจำกัดความรับผิดแต่เฉพาะค่าซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการขนในวงเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หาได้คุ้มครองถึงความเสียหายที่ขาดประโยชน์หรือขาดรายได้จากการใช้รถไม่ จำเลยที่ ๔ จะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่บุคคลภายนอก ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ครอบครองใช้รถที่เอาประกันภัย และผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในเหตุที่รถชนกันนั้นโดยตรง คดีนี้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองรถที่เอาประกันภัยไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๔
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์รวมเป็นเงิน ๗๑,๖๓๐.๒๓ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ ๒ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๙๗๕ แต่จำเลยที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปและจำเลยที่ ๓ ได้เอารถยนต์คันดังกล่าวนั้นประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ ๔ ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร ๒ น. – ๐๘๓๗ ซึ่งโจทก์เช่าจากบริษัทไทยฮีโน่มอเตอร์เซลส์ จำกัด มาใช้ในกิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย และทำให้ของที่โจทก์รับจ้างบรรทุกมานั้นเสียหายอีกด้วย ซึ่งโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับของที่เสียหายนั้นไปแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๔ รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๙๗๕ ไว้จากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๔ จะรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๓ จะต้องรับผิด แต่ขณะเกิดเหตุ รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้ได้โอนไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ ๔ ไม่มีหน้าที่ใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ ๒ พิเคราะห์แล้วปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ ๓ ได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ฐ.๐๑๙๗๕ ไปแล้ว ต่อมาเมื่อสัญญาประกันภัยหมดอายุ จำเลยที่ ๓ ก็ได้เอารถยนต์คันดังกล่าวประกันวินาศภัยและประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ ๔ อีก ดังปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.๑ ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.๑ นี้ ในหมวดที่ ๒ ว่าด้วยสัญญาคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ ๒.๓ ได้ระบุไว้ว่า ‘บริษัท(จำเลยที่ ๔) จะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดตามกฎหมาย เพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถยนต์ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย…….’ ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่นี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามสัญญาข้อ ๒.๓ดังกล่าวแล้วนั้นได้กำหนดไว้ว่า จำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ในเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมาย ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวนี้กำหนดไว้แต่เพียงว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดตามกฎหมายแล้วจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นในนามของผู้เอาประกันภัยตามข้อสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงว่า จำเลยที่ ๔ จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกก็แต่เฉพาะในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ครอบครองและใช้รถที่เอาประกันภัยเท่านั้น ฉะนั้น ถึงแม้ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ จะไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ครอบครองใช้รถก็ตาม เพราะได้ให้จำเลยที่ ๒ เช่าซื้อไปแล้วแต่คดีนี้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขึ้นเช่นนี้ จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๐, ๑๐๗๗ (๒) ประกอบด้วยมาตรา๑๐๘๐ เมื่อจำเลยที่ ๓ ยังจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ ๔ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ๒.๓ ฎีกาจำเลยที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปก็คือ จำเลยที่ ๔ จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายในการที่โจทก์ต้องเสียค่าเช่ารถและขาดประโยชน์ในระหว่างที่ทำการซ่อมรถนั้นหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๔ ฎีกาว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ ๒.๓ จำเลยที่ ๔ รับผิดแต่เฉพาะค่าซ่อมหรือค่าเสื่อมสภาพของรถยนต์ซึ่งเป็นตัวทรัพย์เท่านั้นไม่ต้องรับผิดในค่าเช่าและค่าขาดประโยชน์แต่อย่างใด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาข้อ ๒.๓ ซึ่งศาลฎีกายกขึ้นกล่าวแล้วข้างต้นนั้น ได้กำหนดไว้แต่เพียงว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกจำเลยที่ ๔ จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในนามของผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามสัญญาข้อนี้มิได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดแต่เฉพาะค่าซ่อมรถหรือค่าเสื่อมราคาเท่านั้น จะไม่รับผิดในค่าขาดประโยชน์หรือค่าเสียหายอื่นใดอีก ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ ๓ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าเช่าและค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย ฎีกาจำเลยที่ ๔ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share