คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 967/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นลูกวงแชร์ซึ่งมีข้อตกลงว่าผู้ประมูลแชร์ได้จะออกเช็คไม่ลงวันที่ให้แก่ผู้ประมูลไม่ได้ ส่วนผู้ประมูลไม่ได้จะจ่ายเงินค่าหุ้นให้ผู้ประมูลได้โดยนำดอกเบี้ยที่ประมูลได้หักออกจากเงินค่าหุ้น จำเลยประมูลแชร์ได้ จึงมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืนคือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ ดังนั้นเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ จึงมีมูลหนี้ต่อกัน เมื่อโจทก์ยังเป็นหนี้เงินค่าหุ้นจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามเช็คพิพาทได้ เมื่อจำเลยแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้แก่โจทก์แล้วย่อมมีผลย้อนหลังขึ้นไปจนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คจำนวน 32,250 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าโจทก์ยังไม่จ่ายเงินค่าแชร์ให้แก่จำเลยเช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้โจทก์ไม่มีสิทธินำมาฟ้องจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน32,250 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 30,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้จำนวน5,077.22 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 4,723 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2527 นายชูศักดิ์กิจถาวรกุล สามีจำเลยจัดให้มีการเล่นแชร์ขึ้น มีนายชูศักดิ์เป็นนายวงแชร์มีผู้เข้าเล่นแชร์รวม 19 หุ้น หุ้นละ 30,000 บาทประมูลแชร์กันในวันที่ 10 ของทุกเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10มีนาคม 2527 วิธีการเล่น ลูกวงแชร์ผู้ประมูลให้ดอกเบี้ยสูงกว่าลูกวงแชร์คนอื่นถือว่าเป็นผู้ประมูลได้ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลได้จะออกเช็คฉบับละ 30,000 บาทโดยยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้แก่ลูกวงแชร์ผู้ที่ประมูลไม่ได้ ส่วนลูกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้จะจ่ายเงินค่าหุ้นให้ลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ โดยนำดอกเบี้ยที่ลูกวงแชร์ผู้ที่ประมูลได้มาหักออกจากเงินค่าหุ้น โจทก์จำเลยเป็นลูกวงแชร์วงนี้ด้วย จำเลยประมูลได้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2528เป็นคนที่ 17 (ที่ถูกคนที่ 16) โดยให้ดอกเบี้ย 4,880 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ลูกวงแชร์ที่ยังประมูลไม่ได้คนละ 1 ฉบับจำนวนเงินฉบับละ 30,000 บาท รวม 3 ฉบับคือโจทก์ นางสุจิตราและนางศรีอุบล ซึ่งโจทก์ นางสุจิตรา และนางศรีอุบลจะต้องจ่ายเงินค่าหุ้นให้จำเลยคนละ 25,120 บาท จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์ ครั้นในเดือนถัดมาคือเดือนกรกฎาคม2528 โจทก์ประมูลแชร์ได้ โจทก์นำเช็คพิพาทลงวันที่และนำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารมหานคร จำกัด สาขาปากคลองตลาดเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2528 โดยให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้ว ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่ามีมูลหนี้ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ประมูลแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันตามข้อตกลงต้องส่งเงินคืนคือสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ดังนั้นการที่จำเลยประมูลแชร์ได้ แล้วสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ที่ยังประมูลไม่ได้ เช็คนั้นจึงมีมูลหนี้ต่อกันเมื่อโจทก์ประมูลแชร์ได้แล้วนำเช็คพิพาทไปลงวันที่และนำเข้าบัญชี เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เช็คพิพาทเรียกเก็บเงินไม่ได้จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ การที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นที่จำเลยประมูลได้จำนวนเงิน 25,120 บาทนั้น ไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะปฏิเสธไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายไว้ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยจะใช้สิทธิหักกลบลบหนี้แก่โจทก์ได้เพียงใดเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไป ซึ่งในเรื่องนี้โจทก์นำสืบอ้างว่าได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 25,120 บาท ให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว โดยกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุนฝ่ายจำเลยนำสืบว่า โจทก์ยังไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นให้จำเลยโดยโจทก์อ้างว่าจะเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปหักจากดอกเบี้ยของเงินกู้ที่จำเลยกับนายชูศักดิ์ค้างชำระเป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน 88,334บาท คงเหลือค่าดอกเบี้ยจำนวน 63,214 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1แต่ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.1 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2528ภายหลังเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ยิ่งกว่านั้นโจทก์ได้นำเช็คที่นายชูศักดิ์และจำเลยออกชำระค่าดอกเบี้ยจำนวน 7 ฉบับ รวมเป็นเงิน 88,334 บาท ไปฟ้องนายชูศักดิ์และจำเลย โดยนำเช็ครายการที่ 1 ถึงที่ 3 ตามเอกสารหมาย ล.1ซึ่งได้แก่เช็คเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4 ไปฟ้องนายชูศักดิ์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2528ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย ล.9 ต่อมานายชูศักดิ์ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องไปแล้ว และโจทก์ได้นำเช็ครายการที่ 4ถึงที่ 7 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งได้แก่เช็คเอกสารหมาย ล.5 ถึงล.8 ไปฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 10135/2529เรียกเงินตามเช็ค จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ยังไม่ได้นำเงินค่าหุ้นจำนวน 25,120 บาท ที่จะต้องชำระให้จำเลยไปหักดอกเบี้ยที่นายชูศักดิ์และจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่แต่อย่างใดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ยังเป็นหนี้เงินค่าหุ้นจำเลยอยู่จำนวน 25,120 บาท จำเลยย่อมมีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ตามเช็คพิพาทได้เมื่อจำเลยแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้แก่โจทก์แล้วย่อมมีผลย้อนหลังขึ้นไป จนถึงเวลาซึ่งหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 342 วรรคสอง คดีนี้โจทก์จำเลยมีหนี้ที่ทั้งสองฝ่ายจะอาจหักกลบลบกันได้เป็นครั้งแรกในวันที่ 15 กรกฎาคม 2528โดยในวันดังกล่าวจำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่จำนวน 30,000 บาท และโจทก์เป็นหนี้จำเลยเป็นต้นเงินจำนวน 25,120 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่15 กรกฎาคม 2528 เป็นเวลา 1 เดือน เป็นเงินค่าดอกเบี้ยจำนวน157 บาท รวมต้นเงินแล้วเป็นเงิน 25,277 บาท เมื่อนำเงินจำนวนนี้ไปหักออกจากเงินจำนวน 30,000 บาท แล้วคงเหลือจำนวน 4,723 บาทจำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวน 4,723 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2528 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 354.22 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน5,077.22 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share