คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6183/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การทะเลาะวิวาทตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่จำต้องถึงขนาดใช้คำหยาบ คำด่า หรือใช้กำลังทำร้าย การใช้วาจาโต้เถียง โดยไม่ฟังเหตุผล และมิใช่เป็นการชี้แจงเหตุผลโดยสุภาพตามควร ประกอบกับการใช้กิริยาอาการที่ทำให้เห็นได้ว่าไม่เคารพยำเกรง และเชื่อฟังหัวหน้างานก็ถือเป็นการทะเลาะวิวาทได้ ข. ซึ่งเป็นหัวหน้างานเตือนโจทก์เกี่ยวกับการทำงาน โจทก์กลับแสดงกิริยาอาการพูดจาก้าวร้าวพร้อมกับตบโต๊ะทำงานต่อหน้า ข. และเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนภายในที่ทำการของจำเลย ถือว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกับลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า6,863 บาท เงินโบนัส 7,100 บาท ค่าจ้างค้าง 1,250 บาทและค่าชดเชย 21,300 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานรับส่งเอกสาร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ4,600 บาท และค่าน้ำมันรถอีกเดือนละ 2,500 บาท เมื่อวันที่13 มกราคม 2539 โจทก์โต้เถียงกับนางสาวขนิษฐา จิระไพศาลกุลกรรมการบริษัทจำเลยและเป็นหัวหน้างานของโจทก์ถึงขั้นตบโต๊ะทำงานต่อหน้าพนักงานอื่นหลายคนแต่ไม่มีการใช้คำหยาบ คำด่าหรือใช้กำลังทำร้ายกัน จำเลยจึงมีหนังสือเตือนโจทก์เกี่ยวกับการฝ่าฝืนคำสั่งของหัวหน้างานทะเลาะวิวาทกับหัวหน้างานในบริเวณที่ทำงานและการมาทำงานสายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2539 โจทก์ทะเลาะโต้เถียงกับนางสาวขนิษฐาเกี่ยวกับงานอีก จึงเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือน ทั้งโจทก์ได้กระทำการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและเป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าน้ำมันรถ1,250 บาท แก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าในวันที่ 13 มกราคม 2539 โจทก์โต้เถียงกับนางสาวขนิษฐาจิระไพศาลกุล หัวหน้างานโดยมิได้ใช้คำหยาบ คำด่า หรือใช้กำลังทำร้าย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทะเลาะวิวาทอันจะเป็นเหตุให้จำเลยออกคำเตือนโจทก์เป็นหนังสือได้โดยชอบด้วยกฎหมายปัญหาข้อนี้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เอกสารหมาย ล.1เรื่องวินัยและโทษทางวินัย ข้อ 6.12 กำหนดว่า ลูกจ้างต้องไม่ทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันหรือกับบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงาน ลูกจ้างผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษเตือนด้วยวาจาเตือนเป็นหนังสือ ตัดค่าจ้าง ลดค่าจ้าง พักงาน หรือให้ออกจากงานเห็นว่า การทะเลาะวิวาทตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวไม่จำเป็นจะต้องถึงขนาดใช้คำหยาบ คำด่า หรือใช้กำลังทำร้ายการใช้วาจาโต้เถียงโดยไม่ฟังเหตุผล และมิใช่เป็นการชี้แจงเหตุผลโดยสุภาพตามควร ประกอบกับการใช้กิริยาอาการทำให้เห็นได้ว่าไม่เคารพยำเกรงและเชื่อฟังหัวหน้างานก็ถือเป็นการทะเลาะวิวาทได้เมื่อนางสาวขนิษฐาหัวหน้างานเตือนโจทก์เกี่ยวกับการทำงานแต่โจทก์กลับแสดงกิริยาอาการพูดจาก้าวร้าวต่อนางสาวขนิษฐาพร้อมกับตบโต๊ะทำงานต่อหน้านางสาวขนิษฐาและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนภายในที่ทำการของจำเลย การกระทำของโจทก์ดังกล่าวแม้ไม่ได้ใช้คำหยาบ คำด่า หรือใช้กำลังทำร้าย ก็ถือได้ว่าเป็นการทะเลาะวิวาทกับลูกจ้างอื่นหรือบุคคลอื่นในบริเวณที่ทำงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 6.12 แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยเตือนเป็นหนังสือได้ ที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 เรื่องฝ่าฝืนคำสั่งและทะเลาะวิวาทกับหัวหน้างานชอบแล้ว ดังนั้น การที่นางสาวขนิษฐาเรียกโจทก์มาพบในวันที่ 30 มกราคม 2539 และแสดงบัตรตอกเวลาให้โจทก์ดูว่าโจทก์มาทำงานสายหลายครั้งกับหยุดงานโดยไม่แจ้งสาเหตุขอหักค่าจ้างตามส่วน โจทก์ไม่พอใจพร้อมกับแสดงกิริยาไม่สุภาพก้าวร้าวทะเลาะโต้เถียงกับนางสาวขนิษฐาและพูดดูถูกจำเลยว่าบริหารงานแบบแม่ค้าต่อหน้าพนักงานอื่นหลายคน ถือได้ว่าโจทก์กระทำผิดซ้ำคำเตือน อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share