คำสั่งคำร้องที่ 2858/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกจากงานพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางไม่ยอมจดบันทึกข้อเท็จจริงจากที่โจทก์แถลงกลับจดนอกไปจากคำแถลงของโจทก์คำแถลงของโจทก์จะทำให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ลาออกจากงานโดยอาศัยพยานหลักฐาน คือใบลาออกจากงานของโจทก์ มิได้อาศัยคำแถลงตามที่โจทก์โต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงไว้ ซึ่งศาลแรงงานจะแก้ไขให้โจทก์หรือไม่ ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างค้างจ่ายและค่าเสียหาย พร้อมด้วยเงินเพิ่มและดอกเบี้ยแก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า ศาลแรงงานกลางได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยถูกต้องตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2535 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้อุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นข้อกฎหมาย ก็ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์

โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงว่าศาลแรงงานกลางจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 มิถุนายน 2535 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ยอมจดบันทึกข้อเท็จจริงตามที่โจทก์แถลง แต่กลับจดบันทึกข้อเท็จจริงนอกไปจากคำแถลงของโจทก์ และคำแถลงของโจทก์จะทำให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยได้ว่า จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่ อุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ขอศาลฎีการับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปด้วย

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ใบลาของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.3 ซึ่งมีข้อความโดยสำคัญว่า โจทก์ขอลาออกประสงค์จะไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม2535 โจทก์ยินดีลาออกและได้รับเงินช่วยเหลือ 3.5 เท่าของเงินเดือนโจทก์ โจทก์เขียนใบลาออกดังกล่าวให้จำเลย จำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ลาออกได้ ส่วนการพูดคุยระหว่างโจทก์และผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของจำเลย หรือระหว่างโจทก์และผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยนั้น เป็นการพูดเพื่อจะตกลงกันมิใช่เป็นการบอกเลิกการจ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ลาออกจากงาน พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางไม่ยอมจดบันทึกข้อเท็จจริงจากที่โจทก์แถลงกลับจดนอกไปจากคำแถลงของโจทก์ คำแถลงของโจทก์จะทำให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยได้ว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้วหรือไม่อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นสาระสำคัญแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยนั้นเห็นว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ลาออกจากงานก็โดยอาศัยพยานหลักฐานคือใบลาออกจากงานของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.3 มิได้อาศัยคำแถลงตามที่โจทก์โต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงไว้ซึ่งศาลแรงงานกลางจะแก้ไขให้โจทก์หรือไม่ ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของโจทก์แม้จะเป็นข้อกฎหมาย แต่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

Share