คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ว่า เมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาแล้วนำออกขาย หากได้เงินไม่พอชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าเช่าซื้อคงเหลือ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบ เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีผู้เช่าซื้อผิดสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ โดยเฉพาะข้อความที่ว่า หากเอาทรัพย์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่พอชำระค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบก็เป็นเพียงวิธีการคำนวณหาจำนวนเบี้ยปรับเท่านั้น มิใช่เป็นการเรียกร้องเอาราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ไปจากโจทก์ในราคา 211,718 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญาจำนวน 40,250 บาทที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรกตลอดมาและไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ เมื่อวันที่ 26 กรกฏาคม 2528 โจทก์ติดตามคืนมาได้โจทก์นำออกขายได้ราคาเพียง 85,000 บาท ยังขาดอยู่อีกจำนวน86,468 บาท และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ จึงขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 106,468 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมกับดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกัน และโจทก์ได้รับรถคืนแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าราคาที่ขาดได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,000 บาทแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์อีก 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีคิดจากต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ในราคา 211,718 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา40,250 บาท ที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ4,763 บาท หากผิดนัดให้ถือว่าสัญญาเลิกกันและจำเลยที่ 1 จะต้องส่งมอบรถคืนโจทก์จำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่งวดแรกและไม่ส่งมอบรถคืนโจทก์ ต่อมาวันที่ 26 กรกฎาคม 2528 โจทก์ยึดรถคืนและนำออกขายได้ราคา 85,000 บาท เมื่อหักกับราคาเช่าซื้อแล้วยังขาดอยู่อีก 86,468 บาท สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 9มีข้อความว่า “เมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้แล้วเจ้าของอาจเลือกใช้สิทธิที่จะนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายโดยเปิดเผยกับบุคคลใดเป็นราย ๆ ไป หรือโดยวิธีประมูลหรือโดยวิธีการขายทอดตลาดตามราคาที่เจ้าของเห็นสมควร โดยเจ้าของมิจำต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ จำนวนเงินที่ขายได้หากมีการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อก่อนขาย ให้เจ้าของหักเงินค่าซ่อมแซมออกจากราคาที่ขายได้ เหลือเท่าใดให้นำไปชำระค่าเช่าซื้อที่ยังคงเหลืออยู่รวมทั้งค่าภาษีหากจะพึงมี กับค่าใช้จ่ายอื่นตามที่ผู้เช่าซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระตามสัญญานี้ และผู้ให้เช่าซื้อให้สัญญาว่า หากราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อซึ่งขายไปไม่พอชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้กับเจ้าของจนครบ”
พิเคราะห์แล้ว ในชั้นนี้คงมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยแต่เพียงว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 แก่โจทก์อีก 30,000 บาท นั้นชอบหรือไม่ข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การเรียกค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 เป็นการเรียกร้องเอาราคาที่ยังขาดอยู่นั่นเอง เห็นว่าข้อความในสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 เป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตามกฎหมาย ข้อความที่ว่า ให้เอาทรัพย์ที่เช่าซื้อขายได้เงินไม่พอชำระค่าเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่จนครบนั้น เป็นเพียงวิธีการคำนวณหาจำนวนเบี้ยปรับเท่านั้น หาใช่เป็นการเรียกร้องเอาราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ไม่ ฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ สำหรับจำนวนเบี้ยปรับตามสัญญา ข้อ 9 นั้นเมื่อคำนวณตามวิธีการในข้อตกลงตามสัญญาแล้วเป็นเงิน 86,468 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดลดลงเหลือ 30,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share