แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้น ก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ คดีนี้โจทก์ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาแก่จำเลย แต่เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น จึงมีอายุความเพียง 1 ปี
โจทก์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง คณะกรรมการสืบสวนได้รายงานผลการสืบสวนแก่อธิการบดีในฐานะผู้แทนโจทก์ ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 อธิการบดีผู้แทนโจทก์ทราบแล้วได้นำไปศึกษา และสั่งให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นำเสนอโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ต่อมาผู้แทนโจทก์ได้สั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่กับพวกตามที่คณะกรรมการเสนอไว้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 หรืออย่างช้าที่สุดวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการเสนอรายงานครั้งสุดท้าย อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์จะยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่ เพราะการสั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่เป็นเหตุที่จะยกมาอ้างเป็นข้อยกเว้นในเรื่องอายุความได้ เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนถึงวันที่ 22 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 2,283,788.02 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,704,230.40 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินตามจำนวนที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิด นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจำนวน 2,283,788.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และยกฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 2,283,788.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และคำแก้ไขฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญาและมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 448 เมื่อคดีนี้โจทก์ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แต่เรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเท่านั้น จึงมีอายุความเพียง 1 ปี มีปัญหาว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่เมื่อใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงและสอบสวนหาผู้รับผิดชอบทางแพ่ง คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ทำรายงานผลการสืบสวนเสนอแก่อธิการบดีในฐานะผู้แทนโจทก์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 อธิการบดีผู้แทนโจทก์ทราบแล้วได้นำไปศึกษา และสั่งให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติม ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นำเสนอโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ต่อมาผู้แทนโจทก์ได้สั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่กับพวกตามที่คณะกรรมการเสนอไว้เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 ถือได้ว่าโจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2528 หรืออย่างช้าที่สุดวันที่ 23 พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการเสนอรายงานครั้งสุดท้าย อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์จะยังไม่ได้สั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็หาเป็นสาระสำคัญไม่ เพราะการสั่งให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นเรื่องภายในของโจทก์และไม่เป็นเหตุที่จะยกมาอ้างเป็นข้อยกเว้นในเรื่องอายุความได้ เมื่อนับตั้งแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนถึงวันที่ 22 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.