แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยได้กำหนดให้สินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่อนุญาตให้ผู้นำเข้านำเรือไปจอดขนถ่ายสินค้านอกเขตท่าของจำเลยได้และยกเว้นให้ผู้นำเข้าไม่ต้องเสียค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขนขึ้นท่า ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าสินค้าเคมีเหลวที่โจทก์นำเข้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามความหมายของคำวิเคราะห์ศัพย์คำว่า น้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2474มาตรา 3 และสินค้าเคมีเหลวดังกล่าวก็มีชื่อตรงกันกับที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดชนิดของเหลวต่าง ๆ ที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2474 สินค้าเคมีเหลวของโจทก์จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและได้รับยกเว้นการเรียกเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขนขึ้นท่าตามที่จำเลยได้กำหนดไว้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เคยนำเคมีเหลวมีลักษณะน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรโดยบรรทุกมาในเรือบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงและโจทก์ได้รับอนุญาตจากจำเลยให้ขนถ่ายขึ้นที่ท่าเทียบเรือของโจทก์ที่แขวงช่องนนทรีต่อมาจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 28 กันยายน 2521 ถึงโจทก์ให้ชำระค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขึ้นท่าย้อนหลังนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2517 เป็นต้นมาโจทก์ขอให้จำเลยยกเว้นและยกเลิกการเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว จำเลยไม่ยอมและจะงดบริการสำหรับสินค้าทุกชนิดของโจทก์โจทก์จึงได้วางเงินมัดจำไว้ทั้งสิ้นเป็นเงิน 243, 580 บาทและมีหนังสือโต้แย้งสงวนสิทธิเรียกคืนไว้ การที่จำเลยเรียกให้โจทก์วางเงินมัดจำเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเคมีเหลวที่โจทก์นำเข้าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมให้แก่จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งตามหนังสือดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มิชอบและให้จำเลยคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าจำเลยมีสิทธิเรียกเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขึ้นท่าจากผู้ที่นำเรือเข้ามาออกหรือขนถ่ายสินค้าภายในอาณาบริเวณของการท่าเรือแห่งประเทศไทย แม้ผู้นั้นจะมิได้ใช้บริการของการท่าเรือโจทก์นำเรือบรรทุกสินค้าเคมีเหลวเข้ามาขนถ่ายขึ้นท่าในบริเวณดังกล่าว จึงต้องเสียค่าภาระแก่จำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน มีสินค้าบางชนิดที่โจทก์ยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมแต่สินค้าเคมีเหลวไม่ได้รับการยกเว้นโจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าเคมีเหลวบางส่วนเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำแก่โจทก์ 65,300 บาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 243,580 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามเอกสารหมาย ล.3 ที่จำเลยอ้างมีข้อความว่าจำเลยได้กำหนดประเภทสินค้าที่อนุญาตให้ผู้นำเข้านำเรือไปจอดขนถ่ายสินค้านอกเขตท่าของจำเลยไว้ 5 ประเภทคือ
1. สินค้าที่บรรทุกมาในเรือเกินกว่าปั้นจั่นของจำเลยจะยกขึ้นได้
2. น้ำมันเชื้อเพลิง
3. น้ำมันหล่อลื่นที่บรรทุกมากับเรือน้ำมัน (TANKER) นอกจากบรรจุใส่ถัง
4. กากน้ำตาลที่ส่งให้โรงงานต้มกลั่นสุรา
5. ถ่านหินที่นำมาใช้ในราชการ
และสินค้า 5 ประเภทนี้จำเลยยกเว้นไม่ต้องเสียค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขนขึ้นท่าปัญหาว่า สินค้าเคมีเหลวที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามฟ้องเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามเอกสารหมาย ล.3หรือไม่นั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงพุทธศักราช 2474 มาตรา 3 ให้คำวิเคราะห์ศัพท์คำว่า’น้ำมันเชื้อเพลิง’ รวมความว่าของเหลวทั้งปวงที่เรียกกันว่าร๊อคออยล์เกโรซิน (น้ำมันก๊าด) ปาราฟินเปโตรเลียมกาโซลินเบนโซลเบนโซลินเบนซินนัฟธาและสิ่งอื่น ๆ ตามที่เสนาบดีจะได้ประกาศเพิ่มเติมภายหลังว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ว่าเกิดโดยธรรมดาหรือทำขึ้นจากเปโตเลียมถ่านศิลาซิสท์เชลปิต ฯลฯ และสิ่งที่ทำขึ้นจากสิ่งนั้นอีกต่อหนึ่ง และมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดชนิดของเหลวต่าง ๆ ที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ.2474 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2504 กำหนดให้ ฯลฯ 4. อะซิโตน (ACETONE) ฯลฯ120. โปรบิลอัลกอฮอล (PRCPYLALCOHOL) ฯลฯ 130. โทลูอีน (TOLUENE)ฯลฯ และ 134. ออโธ-ไซลีน (O-XYLENE) เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและคดีได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่าสินค้าเคมีเหลวที่โจทก์นำเข้าตามเอกสารหมาย จ.4 มีชื่อเรียกตรงกับที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับนี้ สินค้าของโจทก์จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและได้รับยกเว้นการเรียกเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขนขึ้นท่าตามเอกสาร ล.3นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.3 โดยตลอดแล้วจะเห็นว่าเหตุที่จำเลยยกเว้นไม่เรียกเก็บค่าภาระหรือค่าธรรมเนียมขนขึ้นท่าสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงก็เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถให้บริการในการขนขึ้นจากเรือเดินทะเลได้เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำค่าภาระไว้สำหรับสินค้าที่โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาระจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินมัดจำค่าภาระแก่โจทก์
พิพากษายืน.